รมช.คลัง เผย Q1/57 จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า 3 พันลบ.จากผลกระทบทางการเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 6, 2014 14:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.คลัง กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร, กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 57(ต.ค.-ธ.ค.56) ต่ำกว่าเป้ารวมแล้วราว 3 พันล้านบาท แยกเป็น กรมศุลกากร จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าราว 6 พันล้านบาท, กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการราว 4 พันล้านบาท ขณะที่กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บได้เกินกว่าเป้าราว 7 พันล้านบาท

รมช.คลัง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองไว้ว่าไม่น่าจะมีผลกระทบยาวนาน และการชุมนุมน่าจะคลี่คลายลงได้ แต่ล่าสุดพบว่าการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.กลับมีการยกระดับเพิ่มขึ้น โดยประกาศปิดกรุงเทพฯ ในวันที่ 13 ม.ค.นี้ ประกอบกับปัจจัยในเรื่องเงินบาทอ่อนค่าที่มีผลให้การนำเข้าสินค้าบางรายการ เช่น สินค้าฟุ่มเฟือยต้องชะลอออกไป ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีงบ 57

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในช่วงหลังจากนี้ไปว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งการจัดเก็บรายได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากการชุมนุมที่จะมีการปิดกรุงเทพฯ ในวันที่ 13 ม.ค.นี้มีสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นก็ได้มอบหมายให้อธิบดีทั้ง 3 กรม ไปพิจารณาว่าจะต้องมีการปรับแผนเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีงบ 57 หรือไม่

"จากสถานการณ์ที่คิดว่าไม่น่าจะมีอะไร การชุมนุมน่าจะคลี่คลาย แต่เมื่อการชุมนุมกลับยกระดับขึ้นอีก ก็ทำให้เกิดสัญญาณที่เรากังวลว่าจะมีอะไรหรือเปล่า เนื่องจากเราได้รับทราบว่าสายการบินต่างชาติเริ่มลดเที่ยวบิน ซึ่งอาจจะกระทบต่อการจัดเก็บ ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าก็กระทบสินค้าฟุ่มเฟือยบางตัวที่ทำให้มีการชะลอการนำเข้า และการบริโภคอาจจะชะลอลงไปบ้าง ดังนั้นเราจึงมาคุยเรื่องการจัดเก็บในไตรมาส 2 ของปีงบ 57" นางเบญจา ระบุ

ขณะที่นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามปกติแล้วในช่วงไตรมาส 1-2 ของแต่ละปีงบประมาณจะเป็นช่วงไฮฮีซั่นของการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ แต่พบว่าหลังจากสิ้นสุดไตรมาสแรกในปีงบประมาณ 57 ไปแล้ว(ต.ค.-ธ.ค.56) การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตลดลงจากประมาณการราว 4 พันล้านบาท ดังนั้นต้องมาพิจารณาอีกครั้งในช่วงไตรมาส 2 ว่าจะยังเห็นสัญญาณที่ลดลงต่อเนื่องอีกหรือไม่

"ปกติแล้วช่วง 2 ไตรมาสแรกผลการจัดเก็บรายได้จะสูง เพื่อไปถัวกับไตรมาสหลังๆ แต่จากที่ดูในไตรมาสแรก พบว่าการจัดเก็บลดลงไปราว 4 พันล้านบาท" นายสมชาย กล่าว

อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า จากที่ได้หารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) พบว่า ในเบื้องต้นหากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศยังคงเป็นเช่นนี้อาจจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในปีงบประมาณ 57 ให้ลดลงราว 5 หมื่นล้านบาท หรืออยู่ที่ประมาณ 4.1 แสนล้านบาท จากประมาณการเดิม 4.6 แสนล้านบาท

ด้านนายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 57 มีปัญหาเล็กน้อย จาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.ภาวะการเมืองที่ไม่ปกติ 2.เงินบาทอ่อนค่า และ 3.ไม่มีการลงทุนภาครัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน ทำให้การนำเข้าสินค้าทุนลดลงเป็นมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท โดยจากเดิมที่ สศค.เคยประมาณการว่าการนำเข้าช่วงไตรมาสแรกจะเติบโตถึง 14.7% แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่าการนำเข้าลดลง 5% ดังนั้นจึงส่งผลให้กรมศุลกากรจัดเก็บภาษีในช่วงไตรมาสแรกของปีงบ 57 ต่ำกว่าเป้าราว 6 พันล้านบาท

ส่วนภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ทั้งปีงบประมาณ 57 นั้น หากสถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้น และการลงทุนเริ่มฟื้นตัวกลับมา ก็จะทำให้มีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นตาม และเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น ก็คาดว่าทั้งปีกรมศุลกากรจะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าไม่เกิน 10%

ขณะที่นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบ 57 กรมสรรพากรยังสามารถจัดเก็บรายได้ได้เกินเป้าราว 7 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี มีสัญญาณที่บ่งบอกว่าการจัดเก็บรายได้อาจจะลดลง หลังพบว่ารายได้จากอากรแสตมป์ลดลง ซึ่งบ่งบอกว่าการจ้างงานและการลงทุนลดลงด้วย แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองกลับสู่ปกติ ก็เชื่อว่าการจัดเก็บรายได้จะกลับมาดีขึ้น และภาวะลงทุนจะกลับมาได้เช่นเดิม แม้การลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาทจะยังไม่เกิดก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ