AREA เผยที่ดินย่านสยามสแควร์แพงสุด 1.65 ลบ./ตร.ว.,รถไฟฟ้าช่วยกระตุ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 28, 2014 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส(AREA) เผยผลสำรวจวิจัยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 28 พบว่า ราคาที่ดินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากวิกฤติเศษฐกิจปี 40 โดยเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 43 เป็นต้นมา รวมระยะเวลา 13 ปีมาแล้ว

ล่าสุด ณ สิ้นปี 56 ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 55 ที่เพิ่มขึ้นเพียง 3.7% มีสาเหตุจากบางบริเวณของผังเมืองได้ผ่อนคลายข้อกำหนดในการก่อสร้าง โดยเฉพาะเขตชานเมืองตะวันตก จากเดิมเป็นเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมกลายเป็นเขตที่อยู่อาศัย ซึ่งสามารถก่อสร้างได้มากขึ้นนั่นเอง การที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นมากกว่า ไม่ใช่เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ในทางตรงกันข้ามเศรษฐกิจกำลังจะได้รับผลกระทบจากการเมืองในขณะนี้

สำหรับราคาที่ดินที่แพงที่สุดในขณะนี้คือ บริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าสยาม ย่านสยามสแควร์ ซึ่งมีราคาตารางวาละ 1.65 ล้านบาท หรือไร่ละ 660 ล้านบาท หรือเท่ากับต้องใช้ธนบัตรใบละ 1,000 บาทปูบนพื้นที่ขนาด 1 ตารางวา หรือ 2 เมตร คูณ 2 เมตร ถึงเกือบ 5 ชั้น สาเหตุที่ราคาที่ดินย่านนี้สูงมากเนื่องจากว่ามีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านถึง 2 สาย เป็นศูนย์รวมของสรรพสินค้าต่างๆ แม้ว่าจะไม่มีการพัฒนาใดๆ เกิดขึ้นในย่านนี้ ราคาที่ดินก็ยังเพิ่มขึ้น เพราะยิ่งรถไฟฟ้าวิ่งออกนอกเมืองหรือเชื่อมต่อกันมากขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มศักยภาพของพื้นที่นี้ ทั้งนี้ราคาที่ดินสะท้อนจากค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกในย่านนี้

แผนพัฒนารถไฟฟ้ายุคแรกๆ ของไทยที่วางแผนกันมาตั้งแต่ปี 22 คือรถไฟฟ้าลาวาลินซึ่งเป็นบริษัทที่ได้สัมปทานจากประเทศแคนาดา ปรากฏว่าในปี 34 บริษัทนี้ได้รับสัมปทานในการก่อสร้างจากรัฐบาลของพล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ แต่ในวันถัดมาได้เกิดรัฐประหารโดยคณะ รสช.เสียก่อนในปีเดียวกันนั้นเอง และรัฐบาลที่ คมช.แต่งตั้งก็ได้ทบทวน หรือล้มเลิกแผนการสร้างรถไฟฟ้าแต่เดิมไป หากมีการก่อสร้างตามแผนดังกล่าวการเดินทางของประชาชนส่วนใหญ่ก็คงใช้ระบบขนส่งมวลชนมากยิ่งขึ้น ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลงก็คงลดน้อยลง มลภาวะก็คงเกิดน้อยลงเช่นกัน

ส่วนราคาที่ดินที่ถูกที่สุดในขณะนี้อยู่บริเวณถนนเลียบคลอง 13 ลำลูกกา กิโลเมตรที่ 5 ซึ่งมีราคาตารางวาละ 2,500 บาท หรือไร่ละ 1 ล้านบาท โดยราคานี้ยืนมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปีแล้ว ทั้งนี้เพราะในเขตรอบนอกๆ ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่มีโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นทางด่วน รถไฟฟ้า ดังนั้นราคาที่ดินจึงเพิ่มขึ้นน้อย

"สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันส่งผลลบอย่างยิ่งต่อการลงทุนด้านสาธารณูปโภค ทำให้ความหวังที่ราคาที่ดินหรือสมบัติของประชาชนโดยรวม จะเพิ่มขึ้น จึงเลือนลางลง" นายโสภณ กล่าว

ศูนย์ข้อมูลฯ เคยทำการศึกษาไว้พบว่า ราคาที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับสถานีรถไฟฟ้า 112 สาย ราคาเฉลี่ยคือ 392,955 บาทต่อตารางวา โดยที่ดินติดถนนในรัศมี 500 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้า 2 ข้าง และลึกจากถนนใหญ่ระยะทาง 200 เมตร หรือรวมพื้นที่ 250 ไร่ มีผลต่อราคาที่ดินสูงสุด ที่ดินส่วนนี้จะมีขนาดประมาณ 250 ไร่ รอบสถานี (500 x 200 เมตร x 4 ด้าน) หรืออาจประมาณการราคาที่ดินเป็นเงินตารางวาละ 192,548 บาท หรือเท่ากับที่ดินที่ดินถนนใหญ่ระยะ 500 เมตรมีค่าเท่ากับ 70% ของราคาแปลงที่ดินที่ดินถนนใหญ่ที่ตั้งอยู่ติดถนน และหากเฉลี่ยกับที่ดินที่อยู่ในซอยอีกไม่เกิน 200 เมตรเป็นเท่ากับ 70% ของที่ดินทั้งผืน (392,955 x 70% x 70%) หรือตกเป็นเงินไร่ละ 77.019 ล้านบาท เมื่อรวม 250 ไร่ และ 112 สถานี ก็จะเป็นเงิน 2.157 ล้านล้านบาท ที่ดินนี้หากเทียบกับเมื่อปี 2541 จะมีค่าเป็น 339% หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 1.438 ล้านล้านบาท และหากเทียบกับเมื่อปี 2541 จะมีค่าเป็น 339% หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 1.438 ล้านล้านบาท

"การพัฒนารถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง การลงทุนวันนี้จะยังประโยชน์มหาศาลในอนาคต ความกลัวเรื่องการใช้หนี้ 50 ปีนั้น นับเป็นความไม่เข้าใจการลงทุนอีกประการหนึ่งที่โครงการหนึ่งๆ มีจุดคุ้มทุนที่สั้นและช่วงชีวิตที่เหลือของการลงทุนนั้นๆ ก็คือกำไร แต่หากโครงการถูกระงับหรือชะลอไปเพื่อรอรัฐบาลใหม่นานๆ จากการปฏิรูป หรือจากการรัฐประหาร หรืออื่นใด ก็จะทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ไปมากกว่านี้" นายโสภณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ