กสอ.ประเมินการเมืองกระทบ SMEs ยอดขายวูบ-แนะปรับตัวรับสถานการณ์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 4, 2014 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ประเมินผลกระทบทางการเมืองต่อผู้ประกอบการไทยในแต่ละสาขา โดยแบ่งระดับผลกระทบเป็น 3 ระดับ คือ ระดับรุนแรงมาก ระดับรุนแรงปานกลาง และยังไม่ชัดเจน

สำหรับสาขาอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงมาก คือ 1.อัญมณีและเครื่องประดับ ได้รับผลกกระทบโดยตรงต่อการท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยที่ลดลง โดยแบ่งเป็นสองส่วน คือ การค้าในประเทศกว่าครึ่งจะผูกกับกลุ่มทัวร์และนักท่องเที่ยว ทำให้ในส่วนนี้กำลังได้รับผลกระทบหนัก เพราะปกติจะขายดีช่วง พ.ย. ถึง ก.พ. อีกทั้งการที่นักท่องเที่ยวย้ายไปเที่ยวต่างจังหวัด แต่การค้าเครื่องประดับส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑลจึงยังได้รับผลกระทบ

2.สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากยอดขายสินค้า OTOP โดยเฉพาะในกลุ่มของใช้ ของที่ระลึก ซึ่งโดยปกติจะมียอดขายในช่วงปลายปี (ระหว่างเดือน พ.ย. ถึง ม.ค.) ถึงร้อยละ 70 แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การชุมนุมขึ้น ทำให้บรรยากาศการซื้อสินค้าในกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบรุนแรง ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรองลงมาคือสินค้า OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย

สำหรับสาขาอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบระดับปานกลาง ได้แก่ 1.อาหาร ได้รับผลกระทบการชุมนุมทางการเมืองส่งผลทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารเริ่มมีรายได้ที่ลดลง เกิดการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และหากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไปอีก อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารได้ ระดับความรุนแรงปานกลาง

2.เกษตรแปรรูป ผู้ประกอบการในสาขานี้จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ทั้งจากการปรับตัวของต้นทุนต่างๆตามนโยบายภาครัฐ และผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง โดยผู้ประกอบการจำเป็นต้องหากลุ่มลูกค้าในพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น เพื่อรักษายอดขายให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

3.สิ่งทอ เนื่องจากผู้ประกอบการในส่วนของโรงงานสิ่งทอส่วนมากไม่ได้อยู่ในพื้นที่การชุมนุม จึงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงแต่การที่มีการกดดันและปิดสถานที่ราชการส่งผลให้กระบวนการขั้นตอนในการส่งออกมีความล่าช้า ในขณะที่ประเทศผู้นำเข้าเร่งการส่งออกให้เร็วขึ้นเนื่องจากความวิตกกังวลในสถานการณ์ภายในประเทศของไทย

4.ตัดเย็บเสื้อผ้า เนื่องจากผู้ประกอบการร้านค้าเสื้อผ้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่การชุมนุม เช่น ประตูน้ำ แพลตตินัม ค่อนข้างได้รับผลกระทบสูงเนื่องจากยอดขายลดลงกว่าร้อยละ 80 ทำให้ยอดการสั่งซื้อลดลง นอกจากนี้ การลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะในเรื่องเครื่องจักรตัดเย็บเสื้อผ้าเริ่มชะลอ เนื่องจาก SMEs รอดูสถานการณ์ ในขณะที่ SMEs ที่ส่งออกยังพอมีออเดอร์อยู่บ้าง

5.เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบจากผู้บริโภคซื้อน้อยลง การตัดสินใจซื้อยากขึ้น จะซื้อก็ต่อเมื่อจำเป็น ยอดในกลุ่มนี้ลดลงกว่า 30% ประกอบกับอากาศหนาวเย็นด้วย ตลาดเครื่องปรับอากาศของภาครัฐชะลอตัวลงด้วยเนื่องจากหยุดงาน

6.เครื่องหนัง ประเภทสินค้ารองเท้า/เครื่องหนังในห้างและร้านค้าที่ใกล้กับที่ชุมนุมได้รับผลกระทบรุนแรง ในขณะที่สินค้าส่งออกไม่มีผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตามมีปัญหาเรื่องการขนส่งบ้าง เนื่องจากโกดังสินค้าที่อยู่ในประตูน้ำ เข้าออกลำบาก

ส่วนอุตสาหกรรมที่ผลกระทบยังไม่ชัดเจน ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากพื้นที่โรงงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในชานเมือง เช่น สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา แต่ในส่วนของผู้ประกอบการในกลุ่มของอุปกรณ์ประดับยนต์ ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากนโยบายรถคันแรก ทำให้ยอดจำหน่ายในปัจจุบันลดลงเกือบร้อยละ 50 เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดต่ำลง และ 2. เครื่องจักรกลการเกษตร ยอดการผลิตเครื่องจักรกลยังเป็นไปตามแผน เนื่องจากไม่ได้ขายผู้บริโภคโดยตรง แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ จะทำให้ส่งผลกระทบต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กสอ.ได้เสนอแนะผู้ประกอบการควรมีการเตรียมความพร้อมหากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยแนวทางการปรับตัวของ SMEs ควรที่จะต้องมีการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์คือ 1. การลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงการวางแผนการผลิตให้รัดกุมเพื่อควบคุมต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนพลังงาน การจัดการสิ่งแวดล้อม และค่าประกันความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจในอนาคต เนื่องจากไม่ทราบว่าสถานการณ์จะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร

2. การลดการสต็อกสินค้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น 3. ใช้แรงงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ให้มีความตั้งใจทำงานกันมากขึ้น หรืออาจเลือกจ้างพาร์ทไทม์ให้เข้ามาช่วงงานเป็นช่วง ๆ 4. ใช้เป็นโอกาสในการปรับปรุงเครื่องจักร การดูแลรักษาไลน์การผลิต การพัฒนาบุคลากร และ5. ผู้ประกอบการควรที่จะเพิ่มช่องทางในการขาย เช่น การขายสินค้าผ่านทางโทรศัพท์ การขายออนไลน์ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ