(เพิ่มเติม) ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมก.พ.57 ที่ 85.7 จาก 86.9 ในม.ค.57

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 24, 2014 13:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนก.พ.57 อยู่ที่ 85.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.9 ในเดือนม.ค.57 ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 56 เดือน นับตั้งแต่ ก.ค.52 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี

ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต, ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ส.อ.ท.ระบุว่า ค่าดัชนีฯ ที่ปรับลดลงเกิดจากความกังวลต่อปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อ และยังไร้ทางออก ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว เนื่องจากผู้บริโภคไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับกำลังซื้อที่ลดลงของภาคเกษตรทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมียอดขายลดลง ความกังวลดังกล่าวได้ส่งผ่านมายังดัชนียอดคำสั่งซื้อ และยอดขายภายในประเทศที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมกำลังประสบปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ อีกทั้งต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น และเห็นว่าการค้าชายแดนจะเป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ในภาวะที่กำลังซื้อภายในประเทศชะลอตัว

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.4 ลดลงจากระดับ 100.0 ในเดือนม.ค.57 โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ที่ลดลงนี้เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต, ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

นายพยุงศักดิ์ฯ กล่าวว่า ผลกระทบจากปัจจัยทางการเมืองทำให้คาดว่าปีนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยจะโตได้ไม่ถึง 3% ตามที่หลายหน่วยงานประเมินไว้ จากปกติที่ควรจะมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ 4-5% ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าลดหมดทุกตัว

"ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ายังไม่เห็นอนาคตว่าจะไปทิศทางไหน...คงไม่มีใครสามารถตอบอะไรได้" นายพยุงศักดิ์ กล่าว พร้อมระบุว่า ทุกครั้งที่ทำการสำรวจ ผู้ประกอบการจะมีความกังวลเรื่องผลกระทบจากปัจจัยทางการเมือง ซึ่งมีมาตั้งแต่เดือน พ.ย.56 แล้ว

"ผู้เกี่ยวข้องคงต้องหาทางแก้ไขให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โปร่งใส เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย" นายพยุงศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ เห็นว่า นักลงทุนยังมั่นใจในศักยภาพของไทยเช่นเดิม แต่ติดเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองอย่างเดียว เมื่อโครงการลงทุนภาครัฐชะลอตัวก็ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวตามไปด้วย โครงการที่ขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนยังค้างรอการอนุมัติ การบริโภคภายในประเทศก็ลดต่ำลง การเบิกจ่ายงบประมาณอาจติดขัด

"ผู้ประกอบการพยายามเพิ่มสัดส่วนการส่งออก และการค้าชายแดน แต่การผลิตต้องอาศัยฐานการบริโภคภายในประเทศ หากลดลงจะส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นกระทบต่อการแข่งขัน" ประธาน ส.อ.ท.ระบุ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบเรื่องการจ้างงาน ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือกับผู้ประกอบการถึงแนวทางที่จะดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบ เพราะจะทำให้แรงงานมีฝีมือสูญหายไปจากระบบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ