7 องค์กรจะเสนอคสช.ฟื้นศก.เร่งด่วน"ฟื้น-ลด-สร้าง"และวางรากฐานปท.ระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 10, 2014 10:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกันของ 7 องค์กรภาคเอกชนมีข้อสรุปที่จะเตรียมเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อช่วยในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศทั้งในระยะเร่งด่วน คือ ฟื้น-ลด-สร้าง และระยะยาว คือ วางรากฐาน

โดยแนวทางระยะเร่งด่วนนั้น มาตรการแรก คือ การฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะเกือบ 7 เดือนที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจและดัชนี้ชี้วัดต่างๆ ปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากต่างประเทศเกิดความไม่มั่นใจในประเทศไทย ดังนั้นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นจึงถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องดำเนินการโดยด่วน ซึ่งขณะนี้ทาง คสช.เองก็ได้เร่งดำเนินการแก้ไขอยู่ เช่น การจัดตั้งบอร์ดบีโอไอ เพื่อให้มีการอนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ กว่า 400 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาทที่ยังคั่งค้างอยู่ให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ รวมถึงกรณีการปรับปรุงการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(รง.4) และการออกใบอนุญาตการทำงาน(Work permit) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ส.อ.ท.เตรียมจัดสัมมนาใหญ่ในประเทศเพื่อเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน โดยคาดว่าจะเชิญนักธุรกิจจากบริษัทขนาดใหญ่ในต่างประเทศเข้ามารับฟังการชี้แจงถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของประเทศไทยในขณะนี้ เพื่อให้เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยยังมีความเข้มแข็งและเดินหน้าไปได้แม้ที่ผ่านมาจะมีปัญหาด้านการเมืองในประเทศก็ตาม

มาตรการที่สอง คือ การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความปรองดอง โดยจะเสนอให้มีการย้ายฐานการผลิตจากในเมืองใหญ่ๆ ไปสู่จังหวัดชายแดนให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยสร้างงาน และกระจายรายได้ในท้องถิ่นให้มากขึ้น ซึ่งสามารถใช้กลไกของอุตสาหกรรมจังหวัดแต่ละจังหวัดร่วมให้เกิดการขับเคลื่อนในระดับภูมิภาคได้

มาตรการที่สาม คือ การสร้างความโปร่งใสและลดการคอรัปชั่น ซึ่งทั้ง 7 องค์กรภาคเอกชนก็เป็นหนึ่งในเครือข่ายต้านทุจริตคอรัปชั่นอยู่แล้ว ดังนั้น่จะต้องเริ่มจากภาคเอกชนก่อนในการที่จะร่วมมือกันตัดวงจรที่จะก่อให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ โดยเฉพาะการประมูลโครงการของภาครัฐ ซึ่งจะต้องอาศัยการทำธุรกิจที่มีทั้งจริยธรรม และคุณธรรมควบคู่กันไป

ส่วนแนวทางระยะยาวนั้น คือการวางรากฐานของประเทศเพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ในระยะยาว เช่น การสร้างบรรยากาศที่น่าลงทุน การลดขั้นตอนและอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ