เงินบาทปิด 31.83/84 แกว่งแคบ รอปัจจัยใหม่ มองกรอบพรุ่งนี้ 31.75-31.90

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 24, 2014 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 31.83/84 บาท/ดอลลาร์ ใกล้เคียงจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 31.82/84 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาททำ high สุดที่ระดับ 31.84 และ low สุดที่ระดับ 31.80 บาท/ดอลลาร์ วันนี้เงินบาทขยับไม่ค่อยมากนัก การอ่อนค่าเป็นผลมาจากการทำกำไร ขณะที่ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่วันนี้ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายตัวออกมาดี จึงทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทมีโอกาสรีบาวน์ขึ้นได้อีกเล็กน้อย จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.75-31.90 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ปิดตลาดช่วงเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 101.54 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 101.54/56 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.3475 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.3459/3462 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,543.92 เพิ่มขึ้น 2.36 จุด (+0.15%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 49,764 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 1,163.22 ลบ.(SET+MAI)
  • นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าในช่วงสั้นๆ มาจากปัจจัยนักลงทุนเชื่อมั่นต่อการเมืองและเศรษฐกิจไทย โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงล่าสุดวันนี้เงินบาทแข็งค่าเฉลี่ย 3.4%
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยรายงานตัวเลขสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (ไม่รวม Interbank) ล่าสุดในเดือน พ.ค.2557 พบว่า มีสินเชื่อรวม 10,862,973 ล้านบาท ขยายตัว 8.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขยายตัว 11%
  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดการส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวในระดับ 1% ต่ำกว่าการคาดการณ์เดิมค่อนข้างมาก เป็นผลจาก 5 เดือนแรกของปี 57 ส่งออกติดลบ 1.2%
  • ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย (KTB) จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจกรุงไทย (KTBI) ประจำไตรมาส 2/57 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจากระดับ 49.52 ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ระดับ 51.03 เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ตามความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในอนาคต
  • ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า” พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 23.13 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่อยู่ในระดับ 12.75 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจ
  • นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียจะมีบทบาทต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดย 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกมากจากเศรษฐกิจของเอเชีย ซึ่งปัจจุบันมีรูปแบบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(Growth Model) ที่มีความสมดุลมากกว่าเดิม จากภาคการส่งออกไปยังคู่ค้าหลัก และการบริโภคใช้จ่ายภายในประเทศ
  • ตลาดหุ้นยุโรปเปิดตลาดวันนี้แทบจะทรงตัว โดยดัชนี Stoxx 600 บวก 0.1% แตะ 342.84 เมื่อเวลา 08.10 น.ตามเวลาลอนดอน ขณะที่นักลงทุนรอดูการเปิดเผยข้อมูลผลประกอบการของบริษัทต่างๆ เช่น เดมเลอร์
  • ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้นในช่วงบ่ายวันนี้ โดยดัชนี MSCI Asia Pacific บวก 0.4% เมื่อเวลา 13.00 น.ตามเวลาโตเกียว เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสช่วยหนุนมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก ภายหลังจากที่สหรัฐได้เปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่ทรงตัว ส่วนหุ้นบีเอชพี บิลลิตัน ดีดตัวขึ้น ขานรับการส่งออกสินแร่เหล็กที่เพิ่มขึ้น ส่วนค่าเงินรูเปียห์แข็งค่าสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา
  • ผลสำรวจของมาร์กิต ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) เบื้องต้นของยูโรโซนในเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้นแตะ 54.0 ซึ่งสูงสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 52.8 ในเดือน มิ.ย. ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นในเดือน ก.ค.ขยับขึ้นที่ 51.9 ซึ่งสูงสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 51.8 ในเดือนก่อนหน้า และดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นเดือน ก.ค.ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 54.4 ซึ่งสูงสุดในรอบ 38 เดือน เมื่อเทียบกับระดับ 52.8 ในเดือน มิ.ย.
  • สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เปิดเผยว่า ราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงเพิ่มขึ้น 20 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 12,100 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ โดยราคาดังกล่าวเทียบเท่ากับ 1,308.89 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ เพิ่มขึ้น 2.16 ดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตราแลกเปลี่ยนล่าสุด 1 ดอลลาร์สหรัฐ/ 7.75 ดอลลาร์ฮ่องกง
  • ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปิดลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบราว 15 เดือนวันนี้ เนื่องจากแรงซื้อหลังธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) ดำเนินการซื้อพันธบัตรในตลาด โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 334 ซึ่งเป็นมาตรวัดดอกเบี้ยระยะยาว ปิดที่ 0.520% ขยับลง 0.010% จากระดับปิดเมื่อวานนี้ ขณะที่ราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปี ส่งมอบเดือน ก.ย.ปรับตัวขึ้น 0.07 จุด แตะที่ 146.00 ที่ตลาดหุ้นโอซาก้า

แท็ก เงินบาท  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ