พาณิชย์ถกผู้ประกอบการยางหาแนวทางผลักดันส่งออก-สร้างมูลค่าเพิ่ม-ลดอุปสรรค-จัดกลุ่มคลัสเตอร์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 17, 2014 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันที่จะให้ภาคอุตสาหกรรรมแต่ละกลุ่มไปจัดแบ่งกลุ่มสินค้า (คลัสเตอร์) และนำข้อเสนอมาประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในรอบต่อไป ประมาณสัปดาห์หน้า และจะจัดประชุมหารือในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาและอุปสรรคของการส่งออกและการผลิตยางพารา ซึ่งภาครัฐจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคให้ ทั้งการแก้ไขกฎระเบียบและกฎหมาย และหากเกี่ยวข้องกับกระทรวงใด ก็จะเชิญมาหารือร่วมกับผู้ประกอบการ เช่น ถุงมือยางมีประเด็นที่ต้องหารือกับองค์การอาหารและยา (อย.) ก็จะเชิญมาหารือในกลุ่มคลัสเตอร์ รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะต้องมาทำความเข้าใจกับกลุ่มอุตสาหกรรมไม้ยางพาราด้วย

สำหรับตัวแทนอุตสาหกรรมยาง ที่เข้าร่วมประชุมวันนี้ ประกอบด้วย ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ยางพารา และผู้ประกอบอุตสาหกรรมถุงมือยาง

ด้านนายอนันต์ พฤกษานุศักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามเซมเพอร์เมด ในกลุ่มศรีตรัง (STA) กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตถุงมือยางอันดับ 1 ในไทย และมียอดส่งออกถุงมือยางติด 1 ใน 5 ของตลาดโลก แต่บริษัทจะมีแนวทางการช่วยเหลือคือ เพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพารามาผลิตสินค้าจาก 50% เป็น 60% ส่วนอีก 40% เป็นการผลิตสินค้าจากยางสังเคราะห์ เชื่อว่าแผนดังกล่าวจะทำให้ปีนี้ เพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติมาผลิตสินค้าจาก 60,000-70,000 ตัน มาเป็น 100,000 ตัน และเชื่อว่าน่าจะทำให้ราคารับซื้อยางในประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยราคารับซื้อยาง 60 บาท/กก. น่าจะเป็นระดับที่ภาครัฐและเกษตรกรพอใจ

ขณะที่นายเจน นำชัยศิริ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้ทำโรดแมพเสนอต่อรัฐบาลแล้ว โดยวางเป้าหมายผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางจากปัจจุบัน 600,000 ล้านบาท ให้ถึง 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 63

ส่วนแผนรักษาเสถียรภาพราคายางพารานั้น ได้เสนอให้รัฐสนับสนุนการพัฒนาและวิจัยตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ด้วยการตั้งหน่วยวิจัยยางพาราแปรรูปกลาง เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมและการเรียนรู้ เพราะปัจจุบันไทยใช้ยางพาราเพื่อการแปรรูปเพียง 12.5% ของกำลังผลิตรวม อีก 87.5% ยังเป็นการพึ่งพาการส่งออก

"ได้เสนอให้เพิ่มแรงจูงใจให้เอกชน โดยลดภาษีการดำเนินการเพื่อการวิจัยจากเดิม 200% เป็น 300% และปรับเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน เชื่อว่าจะเพิ่มการใช้ยางธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมได้ทันที 100,000 ตัน โดยสัปดาห์หน้ากลุ่มอุตสาหกรรมจะหารือเพื่อจัดทำรายละเอียดและนำเสนอรัฐบาลต่อไป" นายเจน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ