TMB คาดปีนี้ GDP โต 1.5% หลังส่งออกติดลบ ส่วนปีหน้าคาดโต 4%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 27, 2014 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย(TMB) กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้คาดว่าจะติดลบ 0.5% ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำทั้งข้าว, น้ำตาล และยาพารา เนื่องจากจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวลดลง เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีขึ้น ส่งผลให้อุปทานมีมากกว่าอุปสงค์ จึงทำให้ราคาสินค้าเกษตรลดต่ำลง
"แม้ว่าปริมาณการส่งออกสินค้าในปีนี้จะเพิ่มขึ้น แต่พอเปรียบเทียบเป็นราคาที่มันแย่แล้ว มูลค่าก็ออกมาน้อยอยู่ดี เพราะในปีนี้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมาก ส่งผลให้โดยภาพรวมแล้วการส่งออกชะลอตัว" นายเบญจรงค์ กล่าว

ส่วนการส่งออกไทยในปี 58 ประเมินว่าจะขยายตัวได้ 3-5% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ทั้งนี้ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่ยังเป็นปัจจัยเชิงลบต่อภาคการส่งออกไทย คือ การยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลการ(GSP) ในการส่งออกสินค้าไปยังยุโรป ประกอบกับเศรษฐกิจยุโรปที่ยังอยู่ในภาวะตกต่ำซึ่งส่งผลในเชิงลบต่อการส่งออกเช่นกัน

ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยในปีนี้ มีโอกาสขยายตัวได้เพียง 1.5% จากเป้าหมายเดิมที่ 2% โดยสาเหตุหลักที่ GPD ปีนี้ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวล่าช้า ภาคการส่งออก การลงทุน และการบริโภคตกต่ำ ขณะที่ปีหน้าประเมิน GDP จะขยายตัวได้ราว 4% โดยมีแรงขับเคลื่อนมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในการลงทุน

"ปีนี้เราคงไม่ได้หวังว่าจะเติบโตได้ถึง 2% ซึ่งมันเป็นไปได้ยาก จากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างช้า ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกฟื้นตัวล่าช้าจากเศรษฐกิจโลกที่แม้จะเริ่มฟื้นตัว แต่ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจในปีนี้ฟื้นตัวช้า มันจะจะส่งผลกระทบเป็น momentum ไปในปีหน้าด้วย" นายเบญจรงค์ กล่าว

นายเบญจรงค์ ยังกล่าวถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐแบบเร่งด่วนด้วยการให้เงินช่วยเหลือชาวนา 1,000 บาท/ไร่ โดยวงเงินรวมไม่เกิน 15,000 บาทนั้น มองว่าเป็นมาตรการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก เนื่องจากจำนวนวงเงินเพียง 4 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นจึงมองว่าจะเป็นเพียงมาตรการพยุงรายได้เกษตรกรรายย่อยเท่านั้น แต่คงไม่เพียงพอที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้ ส่วนมาตรการให้สินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวในวงเงิน 90% ของราคาตลาดนั้น มองว่าจะช่วยดึงให้ข้าวออกสู่ระบบได้มากขึ้น และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรมากกว่ามาตรการเดิมด้วย

"การให้เงินในครั้งนี้มันเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ที่ได้คงเป็นชาวนารายย่อยมากๆ ที่มีนาหรือสวนยางไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งค่อนข้างเล็กมาก มันน่าจะเป็นเพียงมาตรการพยุงรายได้ให้กับชาวนา ชาวสวนมากกว่า คงไม่เพียงพอกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากวงเงินแค่ 4 หมื่นกว่าล้านบาท ขนาดวงเงินที่ชดเชยจำนำข้าวก่อนหน้านี้ที่ 9 หมื่นกว่าล้านบาทในช่วงที่ผ่านมายังไม่เพียงพอกระตุ้น ครั้งนี้ก็ไม่น่าจะพอเช่นกัน" นายเบญจรงค์ กล่าว

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทสิ้นปีนี้คาดจะมีการเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 32.00-32.50 บาท/ดอลลาร์ โดยเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป คือ การส่งสัญญาณในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ว่าจะชัดเจนในช่วงใด ซึ่งหากในเร็วๆ นี้มีความชัดเจนจากเฟดก็อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดที่ 32.60-32.70 บาท/ดอลลาร์

"ตอนนี้มันมีแค่ปัจจัยเดียวที่นักลงทุนคงจับตาอย่างมาก คือ ความชัดเจนของนโยบายการเงินของสหรัฐว่าจะมีความชัดเจนในตอนไหน ซึ่งหากชัดเจนมากก็อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทเหวี่ยงในทิศทางอ่อนค่าได้แรงขึ้น"นายเบญจรงค์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ