ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ประกอบการ SME 2.7 ล้านราย ซึ่งธุรกิจ SME มีผลต่อกระจายรายได้ภาคประชาชนมากกว่าธุรกิจรายใหญ่ ทำให้เกิดการจ้างงานภาคนอกเกษตรถึง 80% โดยการพัฒนาตัวของ SME ให้แข็งแกร่งนั้น ทำได้ยากเพราะขาดแหล่งเงินทุนหมุนเวียนและความรู้ในการทำธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมา SME ไทยมักประสบปัญหาหนี้สินจากภาคธนาคาร เนื่องจากนโยบายของรัฐในช่วงก่อนหน้านี้ที่เร่งส่งเสริมให้ SME ขอเงินกู้จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อขยายธุรกิจเร็วเกินไป จึงเกิดผลเสียตามมา
ดังนั้น หากภาคธนาคารจะช่วยเหลือ SME อย่างแท้จริง จะต้องให้ความรู้ในการทำธุรกิจและช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SME ก่อนให้สินเชื่อหมุนเวียน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ SME เติบโตไดัอย่างยั่งยืน หาก SME ไทยแข็งแกร่งก็จะทำให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตได้ดี เพราะภาค SME มีสัดส่วนต่อการขยายตัวของจีดีพีสูงกว่าภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม มองว่าขณะนี้ SME ไทยมีความแข็งแกร่งแล้ว ไม่จำเป็นต้องออกมาตรการเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม เพียงแค่สนับสนุนให้ SME หันมาพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตมากขึ้น และธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ SME ตามปกติ
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ระบุว่า ส.อ.ท.มีหน่วยงานดูแล SME โดยตรงอยู่แล้ว ที่จะช่วยส่งเสริมด้านการตลาด โดยเน้นการส่งสินค้าผ่านชายแดน และผลักดันสินค้าให้มาจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดมากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายสินค้า รวมถึงจะดูแลการลดต้นทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำข้อตกลงระหว่างสถาบันการเงินในการเสริมสภาพคล่องให้ SME จึงยืนยันสภาพคล่องของ SME ไทยปรับตัวดีขึ้นจากก่อนหน้านี้
ส่วนการทำงานของรัฐบาลนั้น ภาคเอกชนเห็นถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะการดูแลราคาสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขจึงต้องรอผลอีกระยะก่อนประเมินผลงานของรัฐบาล
ขณะที่นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ(BBL) กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SME จะหวังเพียงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับ ที่ผ่านมาภาครัฐมีการกระตุ้นเศรษฐกิจจนเกินจำเป็นไปแล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องช่วยเหลือตนเองด้วยการใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เข้ามาปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งต้องมีการรวมกลุ่มผู้ผลิตสินค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน จากเดิมที่มองเป็นคู่แข่ง เพื่อเพิ่มความเข้มแข่งให้มากขึ้น นอกจากนี้ต้องมีการบริหารจัดการคนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากที่สุด และต้องมีการจัดการด้านตลาดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายโฆสิต ยังกล่าวถึงความพร้อมของผู้ประกอบการในประเทศที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ว่า ผู้ประกอบการไทยมีความตื่นตัวดี แต่ยังขาดเรื่องการพัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรม ตลอดจนความร่วมมือในกลุ่มธุรกิจ และการดูแลบุคลากร ซึ่งแนวทางความอยู่รอดของธุรกิจในปีหน้า จำเป็นต้องยึดหลักสำคัญ 2 ประการ คือ ยึดวินัยการเงิน และการประกอบธุรกิจในสาขาที่ถนัด
เร็วๆ นี้ ธนาคารกรุงเทพจะเปิดสาขาในพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งจะทำให้ BBL มีสาขาครบเกือบทุกประเทศในอาเซียนยกเว้นบรูไน ส่วนแนวทางการปล่อยสินเชื่อนั้น ในสาขาต่างประเทศคงตั้งเป้าหมายได้ยาก แต่การปล่อยสินเชื่อ จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ สินเชื่อสำหรับคนไทยที่จะไปลงทุนในประเทศนั้นๆ, สินเชื่อสำหรับปล่อยให้ธุรกิจท้องถิ่น และสินเชื่อสำหรับปล่อยให้นักธุรกิจในเครือข่ายของธนาคาร พร้อมระบุว่า แนวทางการพัฒนาของ SMEs นั้น มองว่ากระบวนการพัฒนามีความจำเป็นต้องสร้างให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน หากทำได้จะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการจ้างงาน ซึ่งในส่วนของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้ไปมากแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้คือเรื่องหนี้ครัวเรือน และอำนาจซื้อ ดังนั้นเห็นว่าไม่ควรให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญในเรื่องขีดความสามารถทางการแข่งขันมากกว่า