บริษัทเดินเรือยอมชะลอปรับขึ้นค่า THC หลังพาณิชย์ขู่ขึ้นบัญชีควบคุม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 22, 2014 17:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัทเดินเรือต่างประเทศยอมชะลอปรับขึ้นค่าภาระการขนถ่ายสินค้าหน้าท่าออกไปก่อน 60 วัน หลังกระทรวงพาณิชย์ขู่ขึ้นบัญชีบริการควบคุม พร้อมตั้งคณะทำงานขึ้นมาหาข้อสรุปในอัตราที่เหมาะสมภายในสิ้นเดือน ก.พ.58

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังการหารือกับบริษัทเดินเรือรายใหญ่ๆ ประมาณ 10 ราย เพื่อสอบถามถึงกรณีที่สายเดินเรือประกาศขึ้นค่าภาระการขนถ่ายสินค้าหน้าท่า(เทอร์มินอล แฮนด์ลิ้ง ชาร์จ หรือ THC) ในอัตรา 60-70% ว่า ในการชี้แจงพบว่ายังไม่มีเหตุผลชัดเจนในการปรับขึ้นค่าบริการในอัตราดังกล่าว จึงได้ขอให้บริษัทเดินเรือชะลอการปรับขึ้นค่าบริการดังกล่าวออกไปอีก 60 วัน หรือไปจนถึงสิ้นเดือน ก.พ.58 จากเดิมกำหนดขึ้นวันที่ 1 ม.ค.58 ซึ่งในระหว่างนี้จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาหาข้อสรุปถึงอัตราที่เหมาะสมในการจัดเก็บต่อไป คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน ตามช่วงระยะเวลาที่ขอความร่วมมือให้บริษัทเดินเรือชะลอการเก็บค่าบริการออกไปก่อน

"การหาค่าบริการในอัตราที่เหมาะสมจะต้องดูว่าบริษัทเดินเรือมีค่าใช้จ่ายประกอบด้วยด้านใดบ้าง คิดเป็นต้นทุนเท่าไร เพราะการคิดค่าบริการในอัตรา 60-70% ถือว่าสูงเกินไป และบางบริษัทเดินเรือได้ให้ข้อมูลด้านค่าใช้จ่ายที่ไม่ตรงกัน อาจทำให้การคิดอัตราค่าบริการที่เกิดขึ้นไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และที่ผ่านมาก็ได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกจำนวนมากว่าได้สร้างผลกระทบจนทำให้ต้นทุนการส่งออกสินค้าไทยสูงขึ้น" นายสันติชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าการคิดอัตราค่าบริการของสายการเดินเรือที่เพิ่มขึ้น 60-70% ถือว่าไม่เหมาะสม เพราะจากการสอบถามการท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่ได้มีการเพิ่มค่าบริการใช้ท่ากับบริษัทสายการเดินเรือ จึงไม่มีความจำเป็นต้องปรับค่าบริการในส่วนดังกล่าว

สำหรับอัตราการเก็บค่าใช้จ่ายใหม่ ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต จากเดิม 2,600 บาท เป็น 4,400 บาท หรือเพิ่มขึ้น 69.23% และตู้ขนาด 40 ฟุต จาก 3,900 บาทเป็น 6,800 บาท หรือเพิ่ม 74.36%, ค่าเอกสารในการขึ้นเงินจาก 800 บาทต่อชุด เป็น 1,200 บาทต่อชุด, ค่าปิดตู้คอนเทนเนอร์ จาก 150 บาทต่อตู้ เป็น 200 บาท, ค่ายกตู้จากไม่เก็บเป็น 280 บาทต่อตู้ขนาด 20 ฟุต และ 560 บาทต่อตู้ขนาด 40 ฟุต, ค่าตรวจสอบและติดตามตู้จากไม่เก็บเป็น 200 บาทต่อตู้ เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกไทยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการส่งออกเพิ่มขึ้น 9,920 ล้านบาทต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ