กสิกรฯคาดเงินเฟ้อ H1/58 ติดลบ หลังม.ค.ติดลบครั้งแรกรอบ 64 เดือน แต่ยังไม่เสี่ยงเงินฝืด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 2, 2015 18:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยมีโอกาสติดลบต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ท่ามกลางปัจจัยลดแรงกดดันเงินเฟ้อจากหลายด้าน ประกอบด้วย ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่น่าจะทรงตัวในระดับต่ำ ความเป็นไปได้ของการปรับลดค่าไฟฟ้า Ft อีกครั้งในรอบเดือนพ.ค.-ส.ค.58 และการทยอยปรับลดราคาสินค้าของผู้ประกอบการ ภายหลังจากที่ภาระต้นทุนการผลิตเริ่มขยับลงมาหลายรายการ

อนึ่ง วันนี้กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนม.ค.58 ลดลงจนมีค่าติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 64 เดือน ที่ร้อยละ 0.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ภายหลังจากราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลงตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงเพียงเล็กน้อยมาที่ร้อยละ 1.64 ซึ่งสะท้อนว่าราคาสินค้าในกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากราคาพลังงานยังคงปรับตัวสูงขึ้นในระหว่างเดือน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในแต่ละเดือนอาจมีช่วงการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างค่าติดลบร้อยละ 0.2 ถึง ค่าติดลบร้อยละ 0.8 แต่อาจจะยังไม่เปิดประเด็นความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด หากความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนยังไม่ถูกกระทบ ประกอบกับพบข้อสังเกตอยู่บางประการ คือ การติดลบของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นผลมาจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันเป็นสำคัญ ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากพลังงานและอาหารสด (ที่สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน) รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนในหลายๆ ส่วน ก็ยังคงไม่ปรับลดลงตามมาในทันที

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่าทิศทางราคาสินค้าอุปโภค/บริโภคที่ทยอยผ่อนคลายลงดังกล่าวนี้ น่าจะเป็นตัวแปรที่ช่วยบรรเทาสถานการณ์ตึงตัวระหว่างรายได้ และภาระค่าครองชีพรวมถึงหนี้สินของครัวเรือนลงไปบ้างบางส่วน ซึ่งย่อมจะช่วยเสริมให้เส้นทางการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนทยอยมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า" เอกสารเผยแพร่ระบุ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 58 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มที่จะทยอยกลับมามีค่าเป็นบวกในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเป็นผลมาจากการเปรียบเทียบกับฐานดัชนีราคาผู้บริโภคที่ค่อนข้างต่ำของช่วงครึ่งหลังปี 2557 และภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่น่าจะเริ่มมีสัญญาณความสมดุลระหว่างอุปสงค์-อุปทานมากขึ้น (รวมถึงการพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ายิ่งหากราคาน้ำมันในตลาดโลกทรงตัวอยู่ในกรอบต่ำเป็นเวลานานหลายเดือน ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะหลุดต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อของธปท. ในช่วงร้อยละ 2.5 ± 1.5 (ร้อยละ 1.0-4.0) ซึ่งแม้จะทำให้พื้นที่ผ่อนคลายนโยบายการเงินของธปท.เปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็คงต้องติดตามตัวแปรอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. อาทิ โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไปด้วยพร้อมกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ