สศก.เผยชาวนาพอใจมาตรการชดเชยรายได้ไร่ละ 1 พันบาท วอนช่วยต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 11, 2015 11:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก.ได้ดำเนินการติดตามประเมินผลมาตรการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรผู้ผลิตข้าวไร่ละ 1,000 บาท หรือได้สูงสุดรายละ 15,000 บาท โดยได้ลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 5-6 ก.พ.ที่ผ่านมาในพื้นที่ 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี ลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ราชบุรี ชลบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี เพชรบุรี สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช พบว่า เกษตรกรร้อยละ 98 ได้รับเงินแล้ว ส่วนร้อยละ 2 ยังไม่ได้รับเงิน เนื่องจากมีการแก้ไขเอกสาร เช่น มีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองที่ดิน เกษตรกรเปลี่ยนนามสกุล เป็นต้น

ผลสำรวจพบว่า เกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยเฉลี่ย 13,860 บาท/ราย โดยได้รับสูงสุด 15,000 บาท/ราย คิดเป็นร้อยละ 67 และได้รับต่ำสุด 1,500 บาท/ราย คิดเป็นร้อยละ 0.15 เกษตรกร

สำหรับเงินช่วยเหลือที่ได้รับ พบว่า เกษตรกรร้อยละ 49 เก็บไว้ลงทุนทำนาในครั้งต่อไป, ร้อยละ 38 ใช้เพื่ออุปโภค/บริโภค, ร้อยละ 10 ใช้จ่ายค่าหนี้สินที่เป็นปัจจัยการผลิตข้าวที่ค้างจ่าย, ร้อยละ 8 ใช้หนี้ผู้ให้กู้ยืม, ร้อยละ 4 ใช้หนี้ ธ.ก.ส. และอื่นๆ ร้อยละ 10 ได้แก่ เก็บออม ลงทุนทำการเกษตรประเภทอื่น เป็นต้น

ด้านความพึงพอใจภาพรวมของเกษตรกร พบว่า เกษตรกรร้อยละ 55 พึงพอใจมาก, ร้อยละ 36 พึงพอใจปานกลาง และร้อยละ 9 พึงพอใจน้อย เนื่องจากเงินที่ชดเชยมีจำนวนน้อยเกินไป ซึ่งต้องการให้จ่ายเงินชดเชยตามจำนวนพื้นที่ที่ทำนาทั้งหมด หรือ ชดเชย 2 ใน 3 ของพื้นที่ทำนา หรือ ชดเชยขั้นต่ำ 30 ไร่ เป็นต้น และควรเพิ่มเงินชดเชย เป็น 2,000 – 3,000 บาทต่อไร่ และเห็นว่ามาตรการดังกล่าวเกิดประโยชน์เฉพาะผู้ทำนาพื้นที่น้อยเท่านั้น

ทั้งนี้ เกษตรกรทุกรายรับทราบถึงมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวเนื่องจากมีการแจ้งและประชาสัมพันธ์ทั้งจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ผู้นำชุมชน และทางสื่อวิทยุหรือโทรทัศน์ โดยเห็นว่าเป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรได้โดยตรงจึงควรดำเนินการต่อในปีถัดไป

อย่างไรก็ตาม มีเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือคิดเป็นร้อยละ 5 เนื่องจากไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน การเปลี่ยนมือผู้ถือครองที่ดิน และพื้นที่ปลูกข้าวน้อย เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ