EXIM BANK คาดปี 58 ยอดสินเชื่อใหม่เพิ่ม 5% ตั้งเป้ากำไร 1.5 พันลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 12, 2015 13:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุธนัย ประเสริฐสรรพ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK) เปิดเผยว่า ธนาคารได้วางเป้าหมายการดำเนินงานในปี 58 ไว้ โดยคาดว่าจะมียอดสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น 5% หรือประมาณ 9,000 ล้านบาท ตั้งเป้าลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 250 ราย ขณะที่คาดว่าจะมีผลกำไรสุทธิประมาณ 1,500 ลบ. ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 57 ที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ ยังคาดว่าจะมียอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 58 ที่ประมาณ 73,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากจะมีการชำระคืนเงินกู้ครบกำหนดของลูกค้าประมาณ 3-4 พันล้านบาทในช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้ จึงทำให้ยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 58 ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ส่วนบริการประกันการส่งออกคาดว่าในปี 58 จะเพิ่มขึ้น 3-5% หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 พันล้านบาท จากในปี 57 ซึ่งอยู่ที่ราว 75,000 ล้านบาท โดยประเมินว่าการส่งออกปีนี้จะเติบโตอยู่ในช่วง 1.5-4%

รักษาการกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ในปี 2558 EXIM BANK ยังคงมีเป้าหมายสนับสนุนผู้ส่งออก ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก และนักลงทุน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่จะเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกอย่างเต็มที่ โดย EXIM BANK ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ 5 บริการ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการได้อย่างครบวงจร

ประกอบด้วย 1. สินเชื่อ SMEs ส่งออกสบายใจ เป็นวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้น โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกรับความคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อในต่างประเทศได้ในอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายที่พิเศษกว่าปกติ และได้รับอนุมัติวงเงินสูงถึง 6 เท่าของหลักประกัน กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกและ SMEs ที่ยังไม่ได้เป็นลูกค้า EXIM BANK 2. สินเชื่อ SMEs ค้าชายแดน เป็นวงเงินกู้ระยะเวลา 1-2 ปี สูงสุด 10 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย) และเวียดนาม

3. สินเชื่อ SMEs ขยายฐาน เป็นเงินกู้ระยะยาว วงเงินสูงสุด 30 ล้านบาท สามารถกู้ได้ทั้งสกุลเงินบาทและสกุลเงินอื่น ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 7 ปี สำหรับนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทยหรือต่างประเทศที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจไม่น้อยกว่า 3 ปี นำไปใช้ย้ายหรือขยายการลงทุนในต่างประเทศ 4. สินเชื่อเพื่อการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเงินกู้ระยะยาวสูงสุด 15 ปี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) นิคมอุตสาหกรรม และจังหวัดชายแดน 5. สินเชื่อเพิ่มพลังผู้ซื้อผู้ขาย เป็นแพ็กเกจทางการเงินที่ EXIM BANK จัดให้แก่ผู้ส่งออกไทยนำไปเสนอให้แก่ผู้ซื้อใน AEC เพื่อซื้อสินค้าและบริการของผู้ส่งออกไทย

"บริการใหม่ของ EXIM BANK เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยใช้จุดแข็งของ EXIM BANK ในการให้บริการประกันการส่งออกและความเชี่ยวชาญในการสนับสนุนการค้าขายระหว่างไทยกับคู่ค้าใน AEC โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย ช่วยให้ผู้ส่งออกและผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกมีสภาพคล่องทางธุรกิจบวกกับความคุ้มครองความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อที่จะเริ่มต้นหรือขยายการค้าหรือการลงทุนได้อย่างมั่นใจ เมื่อ AEC จะมาถึงในปลายปีนี้" นายสุธนัย กล่าว

พร้อมคาดว่าสินเชื่อ SMEs ส่งออกสบายใจ และสินเชื่อ SMEs ค้าชายแดน น่าจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษจากผู้ประกอบการในปีนี้ โดยธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ที่ 6.75% ซึ่งถือว่าไม่ต่างจากดอกเบี้ย MLR ของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่มากนัก

อย่างไรก็ดี ได้แนะนำให้ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยให้ความสำคัญกับการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น เพราะเชื่อว่าในปีนี้ค่าเงินจะค่อนข้างผันผวน

สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 57 ที่ผ่านมานั้น ธนาคารได้สนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการไทย ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ 149,939 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในปี 56 ซึ่งอยู่ที่ 145,463 ล้านบาท โดยยอดคงค้างสินเชื่อ ณ สิ้นปี 57 อยู่ที่ 73,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.35% เป็นสินเชื่อใหม่ที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้นระหว่างปี 27,482 ล้านบาท ส่วนการรับประกันทำให้เกิดปริมาณธุรกิจส่งออกและลงทุนรวม 86,395 ล้านบาท โดย 9,714 ล้านบาท เป็นธุรกิจส่งออกของ SMEs หรือ 11.46% ของธุรกิจรับประกันรวม มียอดรับประกันคงค้าง ณ สิ้นปี 57 รวม 21,496 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปี 57 ธนาคารมีรายได้จากธุรกิจสินเชื่อเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 2,421 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 431 ล้านบาท ส่วนรายได้จากธุรกิจบริการประกันนั้น มีรายได้เบี้ยประกันและค่าธรรมเนียมสุทธิ 135 ล้านบาท ส่งผลให้ในปี 57 ธนาคารมีรายได้ก่อนกันสำรองหนี้สูญและสงสัยจะสูญเป็นเงิน 2,539 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,516 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.18% จากปี 56

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร(NPLs Ratio) ณ สิ้น ธ.ค.57 อยู่ที่ 5.58% เป็นจำนวน 4,086 ล้านบาท มีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 4,727 ล้านบาท เป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) 2,633 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกัน 179.49% ทั้งนี้เป็นการกันสำรองเพิ่มขึ้นในปี 57 จำนวน 923 ล้านบาท

นายสุธนัย กล่าวว่า การสนับสนุนผู้ส่งออก SMEs เป็นนโยบายหนึ่งที่สำคัญของ EXIM BANK โดยธนาคารได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีลูกค้า SMEs เพิ่มมากขึ้น โดยลูกค้า SMEs คิดเป็นสัดส่วน 83.58% ของลูกค้าทั้งหมด มีการอนุมัติวงเงินเพิ่มใหม่ในปี 57 เท่ากับ 10,774 ล้านบาท และวงเงินอนุมัติสะสมเท่ากับ 56,354 ล้านบาท ยอดคงค้างสินเชื่อให้แก่ผู้ส่งออก SMEs มีจำนวน 22,930 ล้านบาท จากยอดคงค้างสินเชื่อทั้งหมด 73,168 ล้านบาท

ขณะที่การสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ ณ สิ้นเดือนธ.ค.57 ธนาคารได้สนับสนุนสินเชื่อพาณิชยนาวีเป็นยอดคงค้างรวม 11,769 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.90% จาก 9,423 ล้านบาทในปี 2556 โดยในปี 57 ธนาคารได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อพาณิชยนาวีเพิ่มใหม่ 4,150 ล้านบาท และวงเงินอนุมัติสะสมเท่ากับ 13,152 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ