ASP เล็งปรับลด GDP ปี 58 เหลือโต 3.3-2.2% หากส่งออกต่ำกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 12, 2015 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.เอเชียพลัส (ASP) ระบุว่า มีแนวโน้มปรับลดประมาณอีกครั้งหลังจากการประกาศตัวเลข GDP Growth งวด 4Q57 และของปี 57 ในเร็ว ๆ นี้ โดยในเบื้องต้นได้ทำการศึกษาผลกระทบของราคาน้ำมันดิบที่ลดลง และยอดส่งออกที่มีแนวโน้มต่ำกว่าที่คาด ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth โดยการกำหนดให้มูลค่านำเข้ารวมของประเทศลดลงจากเดิม 4.3% เหลือ 4.1% เป็นการลดตามมูลค่านำเข้าน้ำมันที่ลดลง อันเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะลดลงราว 25% (เนื่องจากปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบ จาก 97 เหรียญฯ/บาร์เรล ในปี 57 เหลือ 70 เหรียญฯ/บาร์เรล 2558) เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิราว 17% ของมูลค่าการนำเข้ารวม โดยจะนำยอดนำเข้าที่ลดลง ไปใช้ในการประเมิน GDP Growth ในปี 58 ใหม่

ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าไทยประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกเว้นตลาดส่งออกไปสหรัฐ ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าปีที่ผ่านมาตามการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากการตกต่ำของตลาดส่งออกอื่น ๆ ได้แก่ ยุโรป ญี่ปุ่น และ ตะวันออกกลาง เป็นต้น สะท้อนจากล่าสุด สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ออกมาปรับลดการส่งออกสินค้าในปี 2558 ลงจากเดิม 2.5% เหลือ 1.1-1.5 % ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หน่วยงานภาครัฐได้ทยอยปรับลดประมาณการ GDP Growth ปี 58 ไปแล้ว ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แต่แม้จะปรับลดแล้วแต่ก็ยังสูงกว่าที่ ASP ประเมินไว้ที่ 3.5%

ขณะที่การส่งออก ตามสมมติฐานเดิมกำหนดไว้ที่ 3.5% ซึ่งแตกต่างจากการประเมินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมากถึงเกือบ 2% ในการศึกษาครั้งนี้ จึงได้กำหนดให้มูลค่าส่งออกลดลงทุกๆ 0.5% จากกรณีฐาน และให้ลดลงมากสุด 2% ลงมาเหลือ 1.4% ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด

ทั้งนี้ได้กำหนดให้ตัวแปรอื่นๆ คงที่ กล่าวคือ การบริโภคโดยรวม (C) คงที่ เนื่องจากเชื่อว่าราคาน้ำมันที่ลดลงน่าจะช่วยหนุนการบริโภคในประเทศ (50% ของ GDP) โดยช่วยเพิ่มความสามารถในการซื้อ และเงินในกระเป๋าผู้บริโภคได้ ดังนั้นการขยายตัวของการบริโภคไม่น่าจะต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม

โดยสรุปผลการศึกษาในเบื้องต้น พบว่า GDP growth จะลดลงเฉลี่ย 0.2-1.3% เหลือ 3.3%-2.2% ภายใต้สมมติฐานให้ ยอดการส่งออกรวม ลดลงระหว่าง 0.5%-2% จากสมมติฐานเดิม และ กำหนดให้ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้นเพียง 4.1% จากเดิมที่กำหนดไว้ 4.3%

"ฝ่ายวิจัยจะยังคงยืนยังประมาณการ GDP Growth ที่ระดับเดิมไปก่อน แต่มีแนวโน้มปรับลดประมาณอีกครั้งหลังจากการประกาศตัวเลข GDP Growth งวด 4Q57 และของปี 57 ในเร็ว ๆ นี้"

ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย จากความกังวลต่อเศรษฐกิจยุโรป ที่ยังเผชิญกับภาวะชะลอตัว อันเป็นผลจากปัญหาหนี้สาธารณะ ที่ค้างคามานานตั้งแต่ปี 52 ประกอบกับราคาน้ำมันดิบโลก ตกต่ำต่อเนื่องกว่า 50% จากกลางปี 2557 เป็นต้นมา ได้กดดันให้ภาวะเงินเฟ้อชะลอตัวทั่วโลก จนสร้างความกังวลว่าจะกลายเป็นภาวะฝืด คล้ายกับกรณีของญี่ปุ่นที่เกิดปัญหาต่อเนื่องมายาวนาน นอกจากนี้ ผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ยังส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหลัก ๆ ของโลก โดยเฉพาะในกลุ่มตะวันออกกลาง และรัสเซีย ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดผู้ผลิตน้ำมันในโลกมากถึง 32% และ 14% ตามลำดับ ต้องเผชิญกับการสูญเสียรายได้ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากมีรายได้ส่งออกน้ำมันสัดส่วนสูง เมื่อเทียบกับรายได้จากการส่งออกทั้งหมด เช่น ผู้ส่งออกในกลุ่มตะวันออกมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันกว่า 80% ของรายได้ส่งออกรวม และรัสเซียราว 54% เป็นต้น

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีโอกาสที่จะทำให้นักเศรษฐศาสตร์สำคัญ ๆ ของโลก จะปรับลดประมาณการ เศรษฐกิจโลกอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ปรับลดครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค. 58 โดยทั้ง IMF และ World Bank ได้ปรับลด GDP Growth โลก ลงเหลือ 3.5% และ 3% ตามลำดับ (จากเดิม 3.8% และ 3.4% ตามลำดับ) และในปี 2559 เหลือ 3.7% และ 3.3%ตามลำดับ (จากเดิม 4% และ 3.5% ตามลำดับ) โดยหลักๆ แล้ว ในปี 2558 ประเทศที่ IMF ได้ปรับลด ได้แก่ กลุ่มยุโรป เหลือ 1.2% (จากเดิม 1.3%) ซึ่งหากพิจารณารายประเทศ พบว่าปรับลด เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และ รัสเซีย

ส่วนทางฝั่งเอเซียได้ปรับลด ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย และ อาเซียน-5 ตรงกันข้ามกับประเทศที่ปรับเพิ่ม ได้แก่ สหรัฐ และ สเปน

บทวิจัย ระบุว่า เงินเฟ้อที่ติดลบ 0.41% ในเดือน ม.ค. เป็นครั้งแรกในรอบ 64 เดือน และยังมีแนวโน้มติดลบ หรือ ชะลอตัวต่อเนื่องอีกในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับฐานเงินเฟ้อที่สูงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 57 อาจทำให้ฝ่ายวิจัยต้องมีการปรับลดสมมติฐานเงินเฟ้อในปี 2558 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2% (เทียบกับปี 57 ที่ 2.4%) ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ธปท. มีช่องว่างที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายฯ ลงได้ โดยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยฯ ลงอีกในอัตรา 0.25-0.5% ภายในสิ้นปี 58


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ