ส.อ.ท.ยันค่ายรถยนต์ผลิตตามเป้าปีนี้ ปฎิเสธข่าวปลดพนง.-เพิ่มวันหยุดยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 10, 2015 14:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ยืนยันผู้ประกอบการรถยนต์ในไทยยังคงเดินหน้าผลิตรถยนต์ตามแผนที่ในปีนี้จะมีเป้าหมายการผลิตที่ระดับ 2.13 ล้านคัน เพิ่มขึ้นราว 13% จากปีก่อน ซึ่งคิดเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตในปีนี้ระดับ 75% เพิ่มขึ้นจาก 66% ในปีที่แล้ว โดยยังไม่มีการปลดพนักงานหรือการเพิ่มวันหยุดยาวตามที่มีกระแสข่าวแต่อย่างใด

แต่การที่แนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ยังเติบโตช้า และปัญหาการเมืองในประเทศช่วงที่ผ่านมากระทบต่อการอนุมัติส่งเสริมโครงการลงทุนผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน(อีโคคาร์) เฟส 2 ทำให้เป้าหมายการผลิตรถยนต์ของไทยที่ระดับ 3 ล้านคันในปี 60 นั้น ต้องยืดออกไปเป็นช่วงปี 62-63

"เมื่อช่วงเช้าก็ได้เห็นข่าวว่ามีหลายราย ก็ได้สอบถามไปทุกค่ายก็บอกว่าไม่จริง การหยุดหลายวันติดต่อกันก็เป็นธรรมดาในช่วงที่มีวันหยุดฟันหลอ ก็เป็นปกติของผู้ผลิตรถยนต์ที่จะให้หยุดติดต่อกันไปเลย...ช่วงซัพไพร์ม แม้ยอดขายจะลดลงไปเยอะมากก็ยังไม่มีการเลิกจ้าง เพราะบุคคลากรด้านการผลิตเราต้องรักษาไว้ และปีนี้การผลิตก็ยังมากกว่าปีที่แล้วด้วย"นายสุรพงษ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ปีที่แล้ว ไทยมีการผลิตรถยนต์ 1.88 ล้านคัน ลดลง 23.49% จากปี 56 โดยเป็นยอดขายในประเทศ 8.81 แสนคัน และส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 1.13 ล้านคัน

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ส.อ.ท.ตั้งเป้าหมายยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศปีนี้ที่ระดับ 2.13 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1.2 ล้านคัน และเป็นการผลิตเพื่อขายในประเทศ 9.3 แสนคัน ขณะที่คาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศในปีนี้จะอยู่ที่ 9.5 แสนคัน ซึ่งจะมาทั้งจากการผลิตเพื่อขายในประเทศและการนำเข้ามาขายในประเทศจำนวนหนึ่ง

โดยการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ เป็นผลจากการคาดหวังว่ารัฐบาลจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้เกิดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว รวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่มีโอกาสจะปรับตัวสูงขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อยอดขายของรถยนต์ด้วย อย่างไรก็ตามคาดว่าภาพต่างๆจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ขณะที่ในด้านส่งออกรถยนต์ ยังมีการเติบโตได้ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ ที่เริ่มมีภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น รวมถึงตลาดยุโรป ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) รวมถึงตลาดอาเซียน ก็ยังมีการเติบโต โดยเฉพาะในช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ยอดส่งออกรถยนต์เติบโต 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการนำเข้ารถยนต์อีโคคาร์จากไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งในกลุ่มสหภาพยุโรป ,สหรัฐ ,แคนาดา เป็นต้น ส่วนกรณีที่บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส จำกัด (ประเทศไทย) หรือค่ายจีเอ็ม ได้ถอนตัวจากการเข้าร่วมในโครงการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ เฟส 2 นั้นอาจจะมีผลบ้างแต่ไม่มากนัก แต่เชื่อว่าคงเป็นการปรับแผนการลงทุนในภูมิภาคเอเชียของทางจีเอ็มเอง ไม่ได้เกี่ยวกับแนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศ อีกทั้งจีเอ็มอาจจะมีการลงทุนในสายการผลิตอื่นทดแทน ขณะที่ยังคงมีผู้ผลิตรถยนต์อีกหลายค่ายที่ยังคงเดินหน้าลงทุนในโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 อยู่ต่อไป

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตรถยนต์ในไทย อยู่ที่ระดับ 2.83 ล้านคัน แต่การผลิตจริงยังคงต่ำกว่ากำลังการผลิตรวมตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งในปีนี้มีเป้าหมายการผลิตที่ระดับ 2.13 ล้านคัน และคาดว่าจะผลิตได้ถึงระดับ 3 ล้านคันในช่วงปี 62-63 ซึ่งล่าช้ากว่าแผนเดิมที่คาดว่าจะอยู่ในช่วงปี 60 เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาไทยเผชิญกับปัญหาการเมือง ทำให้การอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) สำหรับโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 มีความล่าช้า รวมถึงปัญหาภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวด้วย

โดยมองว่าหากไทยสามารถผลิตรถยนต์ได้ถึงระดับ 3 ล้านคัน/ปี จะทำให้ไทยติด 1 ใน 10 ของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดของโลก จากปัจจุบันที่อยู่ในลำดับ 12 ขณะที่ปัจจุบันไทยยังคงเป็นผู้นำในการผลิต และการส่งออกรถยนต์ มากที่สุดในอาเซียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ