(เพิ่มเติม2) กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%หลังแนวโน้มศก.ฟื้นต่ำกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2015 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 29 เม.ย.58 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ 1.50% หลังประเมินว่าเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวต่ำกว่าคาด แม้ว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐจะทำได้เพิ่มขึ้นและท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีขึ้น แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยการส่งออกและการบริโภคที่อ่อนแรงในไตรมาส 1/58 อีกทั้งในระยะข้างหน้ามองว่าการส่งออกยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และโครงสร้างการค้าโลก

ดังนั้น กนง.มองว่านโยบายการเงินต้องผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าการลดอตราดอกเบี้ยรอบนี้จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นได้

นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการ กนง.แถลงว่า ประเด็นที่คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญในการตัดสินนโยบาย มีดังนี้ เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แม้การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ทำได้เพิ่มขึ้นและการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่องช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชนที่อ่อนแรงกว่าคาดมากในไตรมาสที่ 1/58

นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้าภาคการส่งออกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และโครงสร้างการค้าโลกและภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงโดยคู่ค้าหลักมีการพึ่งพาการนำเข้าลดลง รวมทั้งจากแรงกดดันจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ การหดตัวของการส่งออกอาจส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคครัวเรือนอ่อนแอลงตามกำลังซื้อและความเชื่อมั่นที่ลดลงแรงกดดันเงินเฟ้อลดต่ำลงสอดคล้องกับอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจที่มีน้อยกว่าคาด ขณะที่ต้นทุนโดยเฉพาะราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบต่อเนื่องเพิ่มสูงขึ้นและการคาดการณ์เงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับลดลง

ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ เสียงส่วนใหญ่ประเมินว่านโยบายการเงินควรผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาวะที่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น ตลอดจนดูแลการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คณะกรรมการฯ เสียงส่วนน้อยเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมามีส่วนช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมมีจำกัด ขณะที่แรงขับเคลื่อนด้านการคลังที่มากขึ้นจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง จึงเห็นควรให้รอประเมินผลต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินก่อนที่จะดำเนินนโยบายเพิ่มเติม

ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ จะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้ภาวะการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายเพียงพอในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเงินของไทยและใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมต่อไป

นายเมธี กล่าวต่อว่า ข้อมูลประกอบการพิจารณาของที่ประชุม กนง.ในรอบนี้พบว่า เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลงกว่าที่คาด ทั้งในแง่ของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งภาคการส่งออก โดยในส่วนของการส่งออกนั้น กนง.เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาการที่เงินบาทแข็งค่าได้มีผลกระทบต่อการส่งออกอยู่บ้าง ดังนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้น่าจะมีผลต่อค่าเงินบาทที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งออกของไทยได้บ้าง แต่คงไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการช่วยกระตุ้นการส่งออกให้เพิ่มขึ้น เพราะการส่งออกจำเป็นต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างทางการค้าเองด้วย

“ตัวเลขเศรษฐกิจที่ได้ในการประชุมรอบนี้ลดลงจากเดิม ทั้งตัวเลข GDP, เงินเฟ้อ และส่งออก ซึ่งส่งออกมีแนวโน้มที่จะติดลบ" นายเมธี กล่าว

พร้อมระบุว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งติดกันนี้ ไม่น่าจะทำให้ประชาชนตีความว่าเศรษฐกิจไทยแย่ลง แต่เราต้องพยายามสื่อให้ประชาชนเห็นว่าการปรับลดดอกเบี้ยลงในครั้งนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไม่ชะลอลงมากเกินไป

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะเริ่มเป็นแนวขาลงแล้วหรือไม่นั้น คงต้องรอดูการประชุม กนง.ในรอบต่อไปก่อน ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 10 มิ.ย.58 โดยระหว่างนี้จะต้องมีการพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศประกอบกันไป เช่น การประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ในปีนี้อย่างเป็นทางการจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.), การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ตลอดจนข้อมูลภาวะเศรษฐกิจรายเดือนต่างๆ ด้วย

นายเมธี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะสถานการณ์โดยรวมยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะเกิดเงินฝืด เพียงแต่ยอมรับว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดบ้างแล้ว ซึ่ง กนง.เห็นว่าในปัจจุบันการชะลอตัวของราคาสินค้าเริ่มกระจายไปยังสินค้ากลุ่มอื่นๆ นอกเหนือไปจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนจะเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นจริงหรือไม่นั้น คงจะต้องติดตามในระยะต่อไป

“ตอนนี้มีความเสี่ยงเรื่องเงินฝืดมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับต้องกังวล แต่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด" นายเมธี กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ