นายกฯ คาดตลาดการค้าการลงทุนปี 59 คึกคัก รับนโยบายเขตศก.พิเศษ-AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 6, 2015 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา "ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศไทยกับการเป็นศูนย์กลางการผลิตสำคัญสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่น" ซึ่งมีนักธุรกิจชั้นนำประเทศญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยและอาเซียนเข้าร่วมงานกว่า 400 คน จัดโดยหนังสือพิมพ์นิเคอิ ประเทศญี่ปุ่นว่า อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในอาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนมากยิ่งขึ้น ทั้งความร่วมมือระดับรัฐต่อรัฐ ภาคเอกชนกับภาคเอกชน และจะทำให้โอกาสทางธุรกิจเปิดกว้างมากขึ้นด้วย

การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปี 2558 ของไทยและประเทศต่างๆ ในอาเซียนจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนมากขึ้น ทั้งความร่วมมือระดับรัฐ ภาคเอกชน และระหว่างประชาชนด้วยกันมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการเปิดกว้างโอกาสทางธุรกิจที่มากขึ้นด้วย โดยมีเป้าหมายคือ การเชื่อมโยงเศรษฐกิจไปสู่ฐานการผลิตเดียวกัน โดยประเทศสมาชิกจะต้องปรับปรุงกฎระเบียบและระบบต่างๆ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง การอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบศุลกากรในลักษณะ Single Window การให้สินค้าเป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ AEC ยังให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงและขยายกรอบความร่วมมือในระดับโลก โดยที่ผ่านมามีความร่วมมือกับหลายประเทศภายใต้กรอบอาเซียน เช่น อาเซียน+3 อาเซียน+6 รวมถึงความร่วมมือกับญี่ปุ่นภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ที่ทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนเติบโตไม่แพ้ภูมิภาคอื่น และเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่มองหาโอกาสทางธุรกิจ

นายกรัฐมนตรี ย้ำความสัมพันธ์ไทยญี่ปุ่นมีทุกระดับ ทั้งด้านการลงทุน การท่องเที่ยว การค้าการเกษตร ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนกันเพิ่มมากขึ้น และเห็นว่าประชาคมโลกวันนี้จะต้องเดินหน้าไปพร้อมกันโดยที่ไม่ต้องทิ้งใครไว้ข้างหลัง และไม่เสียเวลาเพราะความขัดแย้ง

ทั้งนี้ ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญในภูมิภาคอาเซียนของญี่ปุ่นมายาวนานกว่า 30 ปี (พ.ศ. 2528-2557) โดยมีโครงการของบริษัทญี่ปุ่นได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI กว่า 8,000 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 3.2 ล้านล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวในระดับสูง ทำให้เกิดการจ้างงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่บุคคลากรไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาซึ่งกันและกันในด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงด้านการคมนาคมไปยังประเทศอาเซียน จึงขอเชิญชวนนักธุรกิจญี่ปุ่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับประเทศไทย โดยที่รัฐบาลชุดนี้จะดูแลเรื่องการลงทุนให้เป็นพิเศษ ซึ่งรัฐบาลพยายามลดขั้นตอนการลงทุนให้เกิดความสะดวกมากขึ้น ซึ่งหากนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจให้เสนอแนะมายังบีโอไอซึ่งรัฐบาลพร้อมรับฟังปัญหาและจะดำเนินการให้อย่างเต็มที่ในเวลาที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจไปในกลุ่ม CLMV ซึ่งรัฐบาลวางแผนพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว โดยจะเน้นให้มีการดำเนินการให้ได้ก่อนภายในปี 2558-2259 คือที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว

"ผมเชื่อว่าตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป การค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจะคึกคักยิ่งขึ้น จากผลของการดำเนินนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนการเร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาระบบระบบโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางถนน ทางรถไฟ ทางน้ำและทางอากาศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งหลายโครงการจะมี นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย" นายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้านนโยบายส่งเสริมการลงทุน นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ทางญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ทั้งการลงทุนเองหรือร่วมกับภาคเอกชน หรือสถาบันการศึกษาไทยที่มีงานวิจัยพร้อมให้ภาคธุรกิจนำมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ เนื่องจากรัฐบาลมีเป้าหมายเพิ่มการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเป็นร้อยละ 1 ของ GDP โดยผลักดันให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนมากขึ้น ในสัดส่วนของภาครัฐต่อภาคเอกชน 30 : 70 ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่าจะสามาถช่วยพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทยให้ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว

นายกรัฐมนตรีย้ำการเข้ามาบริหารประเทศพยายามจะทำดีที่สุดมากกว่าคนอื่นๆ โดยจะมีการผลักดันการค้าให้สูงขึ้น พร้อมหวังอยากเห็นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยางในไทย และเดินหน้าให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของบริษัทญี่ปุ่นที่มาลงทุนในไทย และขอให้ญี่ปุ่นสร้างความเข้มแข็งถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับไทยรวมถึงพัฒนาบุคลากรเพื่อที่จะให้ไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น และอยากให้เกษตรกรไทยเข้มแข็งเหมือนกับเกษตรกรประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นจะต้องมีความร่วมมือเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี พร้อมย้ำว่าได้ดำเนินงานตามโรดแมปที่วางไว้และในขณะนี้ประเทศมีเสถียรภาพ โดยยืนยันสถานการณ์ในประเทศไทยมีความสงบ ประชาชนต้องการให้ประเทศเดินหน้า จึงขออย่าไปเชื่อการนำเสนอของสื่อหรือโซเชียลมีเดีย

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในอนาคตอาเซียนจะต้องเดินหน้าทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมสีเขียวไปพร้อมกัน และย้ำว่าวันนี้ต้องลดความหวาดระแวง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับการลงทุนในประเทศไทย และขอให้ญี่ปุ่นมองประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่ 2 ด้วย

ทางด้านนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวว่า นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นอย่างแน่นอน เพราะพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นพื้นที่ชายแดนบนแนวเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ GMS นักลงทุนญี่ปุ่นสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตในพื้นที่ใกล้เคียงและใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงฐานการผลิตในประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้

สำหรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่กับการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยนั้น บีโอไอมั่นใจว่า จะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตสำคัญของญี่ปุ่นในระยะยาว และประเภทกิจการที่บีโอไอมุ่งให้การส่งเสริมล้วนแต่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (Modern Industries) ที่สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำหลายประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นด้วย อาทิ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือมีนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรในประเทศ การลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น

"กิจการที่ประเทศไทยต้องการเชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน ส่วนใหญ่ถูกกำหนดให้เป็นกิจการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในกลุ่ม A ซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลระหว่าง 3-8 ปี และยังมีโอกาสขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ หรือ Merit-based Incentives เช่น มีการวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การฝึกอบรบด้านเทคโนโลยีขั้นสูง การพัฒนา Local Supplier หรือในกรณีที่ตั้งสถานประกอบการในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมฯ หรือตั้งในพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ หรือพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ" นางหิรัญญากล่าว

สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกว่าร้อยละ 70 เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยและประเทศในอาเซียน ในธุรกิจการค้าและบริการต่างๆ เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง การเงิน ประกันภัย รองลงมาเป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และขนส่ง ทั้งนี้ โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายใหญ่รวมประมาณ 100 คน เดินทางจากญี่ปุ่นเพื่อมาเข้าร่วมนี้โดยเฉพาะ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ