กรมเชื้อเพลิงฯยันร่าง กม.ปิโตรเลียมผ่านประชาพิจารณ์,เร่งจัดหาพลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 8, 2015 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยืนยันว่า ร่างกฎหมายปิโตรเลียมที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ และเวทีสาธารณะหลายครั้ง พร้อมทั้งเน้นว่าประเทศจำเป็นต้องเร่งรัดจัดหาพลังงาน ซึ่งหากมีการบังคับแก้ไขสัญญาก่อนสิ้นสุดอายุสัมปทานจะส่งผลกระทบและเป็นภัยระหว่างประเทศในด้านการลงทุน

เป้าหมายสำคัญของการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมครั้งนี้ ต้องการเพิ่มทางเลือกในการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ (รอบที่ 21) เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาใช้ระบบสัมปทาน Thailand III+ หรือระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC) หรือทั้งสองระบบก็ได้ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการสำหรับแปลงสำรวจที่จะเปิดให้มีการลงทุนโดยเอกชน ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานในการจัดหาปิโตรเลียมของประเทศ การบริหารจัดการที่จะนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นระบบสัมปทาน หรือระบบ PSC

"ขอยืนยันว่าทั้งสองทางเลือกไม่สามารถเจรจาโดยไม่เปิดเผยได้ เพราะต้องเปิดเผยผ่านการออกประกาศเชิญชวนรอบใหม่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุด และต้องไม่ต่ำกว่าผลประโยชน์ขั้นต่ำตามที่กำหนดในกฎหมาย ซึ่งระบบนี้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อประชาชนอย่างแท้จริง และที่สำคัญอำนาจในการตัดสินใจสุดท้ายในการให้สิทธิเอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นของคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่เป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน"นางพวงทิพย์ กล่าว

สำหรับกรณีเกี่ยวกับการโอนสัมปทานนั้น ขอชี้แจงว่าการพิจารณาให้สัมปทานลำดับแรกจะพิจารณาคุณสมบัติผู้ยื่นคำขอสัมปทาน โดยต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 24 แห่งพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ดังนี้ 1) เป็นบริษัท 2) มีทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะสำรวจ ผลิต ขายและจำหน่ายปิโตรเลียมในกรณีที่มีลักษณะตามนี้ไม่ครบถ้วน ต้องมีบริษัทอื่นซึ่งรัฐบาลเชื่อถือได้ให้การรับรองตามกำหนด และในกรณีการโอนสิทธิสามารถทำได้ตามข้อกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ลักษณะเดียวกับธุรกิจทั่วไป โดยเฉพาะธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่จำเป็นต้องลดความเสี่ยงที่ต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม เพราะจะต้องนำเทคโนโลยีจากบริษัทผู้ร่วมทุนมาใช้

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบต่อสิทธิ หน้าที่ ของผู้รับสัมปทานที่จะต้องดำเนินการตามข้อผูกพันในทุกกรณีที่มีการระบุในสัญญาสัมทปทานปิโตรเลียม รวมถึงผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับในรูปแบบต่างๆ ก็ยังคงสัดส่วนตามกฎหมายกำหนดทุกประการ แต่อย่างไรก็ตามผู้รับโอนก็ต้องได้รับการตรวจสอบคุณสมบติเช่นเดียวกับการคัดเลือกผู้รับสัมปทาน คือต้องมีคุณสมบัติมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514

ข้อกล่าวอ้างว่าร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตเปิดให้เอกชนสามารถหักได้ในอัตรา 50% ทั้งหมด และจะส่งผลให้ประชาชนเสียผลประโยชน์นั้น ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวคือกำหนดให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง โดยไม่เกิน 50% ของผลผลิตรวมปิโตรเลียม (คำนวณจากการขาย หรือจำหน่ายปิโตรเลียมทั้งหมด) ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายไม่ถึง 50% ก็ให้หักได้เท่ากับค่าใช้จ่ายตามจริงเท่านั้น (ต้องเป็นค่าใช้จ่ายตามแผนงานและงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากกรมเชื่อเพลิงธรรมชาติ)

ส่วนประเด็นที่เสนอให้รัฐบาลแก้ไขสัญญาและขอเข้าไปในพื้นที่ และถ่ายโอนสิทธิก่อนสิ้นอายุล่วงหน้า 5 ปี เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่สามารถดำเนนการได้ และการกระทำดังกล่าวยังเป็นการส่งผลกระทบและเป็นภัยระหว่างประเทศในด้านการลงทุนอีกด้วย และร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่เสนอโดยเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ส่งเสริมการลงทุน ไม่สอดคล้องกับศักยภาพปิโตรเลียมของประเทศไทย และระบบการจัดเก็บรายได้ก็ไม่ได้เพิ่มสัดส่วนรายได้ของรัฐแต่อย่างใด

"กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติขอยืนยันว่าได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการบริหารจัดการเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานอย่างครบถ้วนเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนนาคตแล้ว"นางพวงทิพย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ