ก.พลังงานเห็นชอบรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนรูปแบบ Adder รวม 8 โครงการ 163 MW

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 26, 2015 10:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE) เมื่อวันที่ 23 ก.ค.58 เห็นชอบให้ตอบรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภท SPP ในระบบ Adder จำนวน 8 โครงการ รวมทั้งสิ้น 163 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลทั้งหมด โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อทั้งหมด ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว

ทั้งนี้ จากการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริม การนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์เพิ่มราย ได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพทางการตลาดของพืชผลทางการเกษตรอีกทางหนึ่ง โดยจะมีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นพลังงานได้มากกว่า 10,500 ตัน/วัน เกิดการซื้อขายเชื้อเพลิงชีวมวลในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาทต่อปี

สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้ง 8 โครงการ ได้แก่ บริษัท น้ำตาลระยอง จำกัด ขนาด 40 เมกะวัตต์ เสนอขายไฟฟ้า 20 เมกะวัตต์ , บริษัท บัวใหญ่ ไบโอเพาเวอร์ จำกัด ขนาด 55 เมกะวัตต์ เสนอขายไฟฟ้า 25 เมกะวัตต์ ,บริษัท ปัตตานี กรีน จำกัด ขนาด 23 เมกะวัตต์ เสนอขายไฟฟ้า 21 เมกะวัตต์ ,บริษัท อู่ทองกรีนพาวเวอร์ จำกัด ขนาด 25.9 เมกะวัตต์ เสนอขายไฟฟ้า 24 เมกะวัตต์

บริษัท รวมผลไบโอเพาเวอร์ จำกัด (โครงการ 1) ขนาด 25 เมกะวัตต์ เสนอขายไฟฟ้า 25 เมกะวัตต์ ,บริษัท รวมผลไบโอเพาเวอร์ จำกัด (โครงการ 2) ขนาด 25 เมกะวัตต์ เสนอขายไฟฟ้า 13 เมกะวัตต์ ,บริษัท อุทัยธานี ไบโอเอเนอยี่ จำกัด (โครงการ 2) ขนาด 15 เมกะวัตต์ เสนอขายไฟฟ้า 15 เมกะวัตต์ และบริษัท อีเอส พลังงาน จำกัด (โครงการ 2) ขนาด 35 เมกะวัตต์ เสนอขายไฟฟ้า 20 เมกะวัตต์

นายคุรุจิต กล่าวอีกว่า คณะกรรมการ RE ยังได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลและก๊าซชีวภาพ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ซึ่งจะเสนอคณะกรรมการนโยบาพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เพื่อพิจารณาอีกครั้งและได้มีการพิจารณาอนุญาตให้มีการนำวัตถุดิบประเภทมูลสัตว์หรือสารอินทรีย์อื่นๆ มาผสมกับการผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานได้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเทคโนโลยี

รวมทั้งได้มีการพิจารณาร่างหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ กลั่นกรองและคัดเลือกโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรได้นำเสนอ ซึ่งคณะกรรมการได้ให้ความเห็นชอบในหลักการ และจะได้เสนอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ