ส.อ.ท.เผยรัฐอุ้มอุตสาหกรรมเหล็กหนุนตั้งโรงถลุง-เจรจาจีนลดอุดหนุนส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 29, 2015 16:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทรงวุฒิ ไกรภัสสร์พงษ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาครัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเหล็กที่ปัจจุบันเผชิญกับภาวะการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรง โดยพร้อมจะศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงถลุงเหล็กเหล็ก ซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรม เบื้องต้นมีการเสนอใน 3 พื้นที่ในจ.ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่จะเจรจากับรัฐบาลจีน เพื่อขอให้ลดการอุดหนุนการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็ก หลังสินค้าเหล็กจากจีนเข้ามาทุ่มตลาด

ทั้งนี้ จากการที่การบริโภคเหล็กของประเทศไทยมีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในระหว่างปี 57-58 นั้นมีปริมาณการผลิตในประเทศ 8 ล้านตัน/ปี และปริมาณการนำเข้าจำนวน 12.5 ล้านตัน/ปี ขณะที่การใช้กำลังการผลิตในประเทศยังทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากมีการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก เช่น จีน ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต้องร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว โดยประสานงานกับภาครัฐเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมต่อไป

กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิตเหล็ก และผู้ใช้เหล็กเข้าร่วมหารือแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างยั่งยืน และล่าสุดรมว.พาณิชย์ แจ้งว่าจะร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นแกนหลักในการให้ความช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการแข่งขันให้กับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเหล็กเพื่อรองรับกับสถานการณ์การแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงยิ่งขึ้น โดยได้กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ 6 มาตรการ ได้แก่ 1.กรมการค้าภายในกำหนดให้ เหล็กเส้น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กกล้าแผ่นไร้สนิมรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดเย็น ให้เป็นสินค้าอ่นไหว (Sensitive List :SL) เพื่อให้มีการติดตามสถานการณ์การจำหน่ายทุกวัน

2. กรมการค้าระหว่างประเทศ ได้เดินหน้าเจรจากับรัฐบาลจีน เพื่อให้ลดการอุดหนุนการผลิตและส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กมายังประเทศไทย ซึ่งขณะนี้จีนได้ยกเลิกมาตรการคืนภาษีส่งออกสำหรับสินค้าเหล็กเจือโบรอนบางรายการแล้ว แต่อย่างไรก็ตามสินค้าที่ได้ยกเลิกการอุดหนุนไม่ได้มีนัยสำคัญ เพราะส่งออกมายังประเทศไทยในปริมาณน้อย ขณะที่สินค้าเหล็กเจือโบรอน รายการที่ส่งมายังประเทศไทยในปริมาณมากนั้นยังไม่มีการยกเลิกมาตรการคืนภาษีส่งออกดังกล่าว ดังนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กไทย จึงร่วมกับสมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าอาเซียนร่วมกับกรมการค้าระหว่างประเทศ เรียกร้องข้อเสนอร่วมกับอุตสาหกรรมเหล็กอาเซียนต่อรัฐบาลจีนโดยตรง

3.กรมศุลกากรได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าเหล็ก ณ ขณะนำเข้า 4.สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)เดินหน้าประชาสัมพันธ์แผนการกำหนดหรือทบทวนมาตรฐานสินค้าเหล็ก โดยปัจจุบัน สมอ.กำลังจัดทำแผนแม่บทสำหรับการปรับปรุงมาตรฐานสินค้าประเภทเหล็กและประเภทอื่นๆด้วยตามความสำคัญก่อนหลัง

5.กระทรวงอุตสาหกรรม จะจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย และคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ และเร่งศึกษาและพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำ (โรงงานถลุงเหล็ก) ในไทย

6.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดแนวทางและจัดทำแผนงานเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำให้เป็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันบีโอไอได้ศึกษากระบวนการให้ความช่วยเหลือแล้ว

นายทรงวุฒิ กล่าวว่า ภาคเอกชนได้ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งมีทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่ 1.การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรม ให้มาเป็น Service Solution 2. การส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนการใช้ local content สำหรับการการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศ 3. ส่งเสริมการผลิตเหล็กปลายน้ำที่มีประสิทธิภาพสูง 4.การส่งเสริมให้ใช้สินค้าในประเทศ

5.การส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ (การสร้างโรงถลุงเหล็ก) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นให้กับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาใน 3 พื้นที่คือ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ,อ.บางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ และ อ.ปะทิว จ.ชุมพร โดยใน 3 แห่งนี้มีความเหมาะสมค่อนข้างมากเนื่องจากมีมูลค่าการลงทุนไม่มากนัก ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และมีท่าเรือที่เหมาะสมในการขนส่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ