"ดร.โกร่ง"มองเศรษฐกิจไทยเข้าขั้นวิกฤติ SMEทยอยล้ม-NPL สูง-ส่งออกทรุด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 25, 2015 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมนา"Second Half of 2015 Economic Outlook & Fund Investment" ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้เข้าขั้นวิกฤติเพราะส่งออกหดตัว ธุรกิจต่างๆ ขาดทุน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีทยอยล้ม ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ของสถาบันการเงินปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ถือว่าต่ำมาก โดยภาวะเศรษฐกิจมีลักษณะเป็น U shape ก้นยาวไปถึงสิ้นปีนี้ หลังจากเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุด แต่คงยังไม่ฟื้นตัวไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากดีมานด์ยังไม่กลับมา และเศรษฐกิจโลก เช่น สหรัฐ แม้ฟื้นตัวมาแล้วบ้าง แต่คงยังไม่ค่อยดี ประกอบกับ ราคาพลังงานปรับตัวลงมาก ทำให้ธุรกิจอื่นตกลงไปด้วย ส่วนเศรษฐกิจยุโรปยังไม่ฟื้นตัว เพราะหลายประเทศมีปัญหาเรื่องหนี้สิน ขณะที่ญี่ปุ่น คาดการณ์ได้ยาก เพราะภาคอุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศค่อนข้างมากแล้ว

นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลคงทำได้แค่ประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดไปกว่านี้ เพราะข้อเท็จจริงปรากฎอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่อยากให้ตั้งความหวังกับการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจสูงนัก เพราะอาจผิดหวังไว้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจต้องไปตามกระแสเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เพราะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเชื่อว่าไม่มีใครที่จะฝืนได้ คงทำได้แค่ประทังไปสักพักเท่านั้น

"รัฐบาลคงทำได้แค่ประคองตัว ซึ่งต้องรอต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีใครรู้ว่าจะใช้เวลาเมื่อไร แค่ประคองไม่ให้ทรุดลง และดูแลให้ดี ให้มากกว่านี้ ดูแลสภาพคล่องของระบบอย่าให้ขาด และรัฐบาลควรลงทุนให้มากขึ้น"นายวีระพงษ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายวีรพงษ์ ยังได้แนะนำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตปรับปรุงประสิทธิภาพ ด้วยการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยีให้ทันสมัย เพราะอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ย 60% ในปัจจุบันถือว่าน้อย เครื่องจักรส่วนใหญ่ใช้มาแล้ว 18 ปี ถือว่าเก่า การแข่งขันก็ไม่ได้ ช่วงนี้เป็นโอกาสที่ปรับเปลี่ยนการลงทุน

อย่างไรก็ตาม การที่ภาครัฐจะสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนเครื่องจักรก็อาจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นและตลาดทุน เพราะการเปลี่ยนเครื่องจักร และการเปลี่ยนเทคโนโลยี ต้องมีการระดมทุนค่อนข้างมาก แต่ภาวะตลาดหุ้นอย่างนี้จะระดมทุนได้ยาก ไม่ว่าจะอย่างไร มองว่าการระดมทุนผ่านตลาดของบริษัทจดทะเบียนจะเกิดขึ้นแน่นอน แต่การลงทุนเพื่อไปปรับเปลี่ยนเครื่องจักรนั้นเชื่อว่าทุนน่าจะมาจากต่างประเทศมากกว่า

นายวีระพงษ์ กล่าวว่า ราคาพลังงงานที่ปรับตัวลง ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลงตามไปด้วย ได้แก่ ยางพารา แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาล ข้าว ข้าวโพด เป็นเหตุให้รายได้ครัวเรือนภาคเกษตรที่คิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศนั้นปรับตัวลง

"สถานการณ(เศรษฐกิจ) เช่นนี้จะดำรงต่อไปตลอดช่วงครึ่งหลังปี 58 และอาจจะซึมๆต่อไปถึงปี 59 จนกว่าจะมีการลงทุนใหม่เกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อไร"นายวีระพงษ์ กล่าว

นายวีระพงษ์ กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทมองว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีก เงินดอลลาร์สหรฐแข็งขึ้นเพราะคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราว่างงานต่ำสุดในรอบ 20 ปีและต่ำกว่าเป้าหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ