สศก.เผยภัยแล้งกด GDP ภาคเกษตร Q3/58 หดตัวต่อเนื่อง 4.9% คาดทั้งปียังติดลบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 21, 2015 10:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ปี 2558 (กรกฎาคม – กันยายน 2558) พบว่า หดตัว 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปี 2558

ปัจจัยหลักที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 หดตัว ยังคงเป็นปัญหาภัยแล้งซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรมาตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ ประกอบกับในช่วงเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูเพาะปลูก หลายพื้นที่ของประเทศยังคงประสบภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร สร้างความเสียหายต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิด โดยเฉพาะข้าวนาปี

สำหรับการผลิตสาขาปศุสัตว์ ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในสินค้าปศุสัตว์ของไทย เนื่องจากระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐานและสินค้ามีคุณภาพ ส่วนสาขาประมง การผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงออกสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) คลี่คลายลง ขณะที่การทำประมงทะเลประสบปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวน การยกเลิกสัมปทานประมงในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายประมงอย่างเคร่งครัดส่งผลกระทบต่อการออกเรือไปจับสัตว์น้ำตามธรรมชาติ โดยเฉพาะเรือประมงขนาดเล็ก ทำให้ผลผลิตสัตว์น้ำที่จับได้ลดลง ขณะที่การผลิตประมงน้ำจืดลดลง เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรบางส่วนต้องงดการเลี้ยงปลา มีการปล่อยลูกปลาน้อยลง หรือชะลอการเลี้ยงออกไป

ด้านนายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวในรายละเอียดว่า หากจำแนกแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช ไตรมาส 3 ปี 2558 หดตัว 7.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยพืชสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าว สับปะรดโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ลำไย มังคุด และเงาะ โดยส่วนใหญ่ผลผลิตลดลง เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ยังคงเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูเพาะปลูก และสภาพอากาศที่แปรปรวน

สำหรับพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา และทุเรียน ด้านราคา พบว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2558 สินค้าพืชที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ โดย มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ประกอบการ สับปะรดโรงงาน มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ในขณะที่ความต้องการของโรงงานแปรรูปสับปะรดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ภายในประเทศ ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

ด้านการส่งออก สินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2558 ได้แก่ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา โดย น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเร่งระบายปริมาณน้ำตาลที่มีมากกว่าปริมาณความต้องการบริโภคภายในประเทศ โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย กัมพูชา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศลาวเริ่มมีความต้องการเพิ่มขึ้นหลังจากหยุดนำเข้าไประยะหนึ่ง ยางพารา เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้จากประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออกยางเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เพราะราคายางในตลาดโลกทรงตัวในระดับต่ำ

สาขาปศุสัตว์ ในไตรมาส 3 ปี 2558 ขยายตัว 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยสินค้าหลักทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคของตลาดที่ยังคงเพิ่มขึ้น ประกอบกับระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานและมีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคได้ดี ด้านราคา ในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2558 ไก่เนื้อ สุกร และไข่ไก่ มีราคาเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมีปริมาณมาก ส่วนราคาน้ำนมดิบโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการปรับขึ้นราคารับซื้อน้ำนมดิบและคุณภาพน้ำนมดิบที่ดีขึ้น

ด้านการส่งออกสินค้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ ในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2558 ยังขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 การส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งในส่วนของไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและเนื้อไก่ปรุงแต่ง ขณะที่การส่งออกไปสหภาพยุโรปลดลงจากภาวะเศรษฐกิจยังที่ชะลอตัว ด้านการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคในตลาดอาเซียนมีความเชื่อมั่นในคุณภาพนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย ทำให้การส่งออกไปยังตลาดอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น

สาขาประมง ไตรมาส 3 ปี 2558 หดตัว 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ในเดือนกรกฎาคม 2558 มีปริมาณ 11,542.30 ตัน ลดลงจาก 19,278.70 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2557 หรือลดลง 40.1% โดยปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นที่ท่าเทียบเรือในภาคใต้โดยส่วนใหญ่ลดลงเป็นผลมาจากการยกเลิกสัมปทานประมงในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และการบังคับใช้กฎหมายประมงที่มีความเข้มงวด ทำให้เรือประมงบางส่วนต้องหยุดการทำประมง

สำหรับผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงในเดือนกรกฎาคม 2558 มีปริมาณ 19,161 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งมีปริมาณ 16,271 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 17.8% เนื่องจากปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) คลี่คลายลง ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ใช้พันธุ์กุ้งที่ต้านทานต่อโรค ทำให้มีอัตราการรอดสูง สำหรับผลผลิตจากประมงน้ำจืด เช่น ปลานิล และปลาดุก มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาถึงช่วงไตรมาส 3 ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดลดเนื้อที่เลี้ยงปลาลงหรือชะลอการเลี้ยงออกไป

สาขาบริการทางการเกษตร ไตรมาส 3 ปี 2558 หดตัว 6.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยการจ้างบริการเตรียมดินและไถพรวนดินลดลง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์ภัยแล้ง และผลตอบแทนจากการปลูกข้าวลดลง ประกอบกับการใช้บริการเกี่ยวนวดข้าวลดลงจากการเลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงต้นฤดู อย่างไรก็ตาม การขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโรงงานขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการปลูกอ้อยของรัฐบาลและโรงงานน้ำตาล ทำให้มีการใช้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่น รถไถเตรียมดินเพิ่มขึ้น

สาขาป่าไม้ ไตรมาส 3 ปี 2558 ขยายตัวประมาณ 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 เนื่องจากผลผลิตป่าไม้ที่สำคัญ เช่น ไม้ยางพารา ถ่านไม้ และครั่ง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นตามพื้นที่การตัดโค่นจากการส่งเสริมของ สกย. อีกทั้งไม้ยางพารายังเป็นที่ต้องการของตลาดเพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ส่วนผลผลิตถ่านไม้เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ภายในประเทศและความต้องการนำเข้าถ่านไม้ของตลาดญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง ยังคงเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม้ยูคาลิปตัสลดลงกว่า 50% จากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัสไปปลูกยางพาราทดแทน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน และญี่ปุ่น ชะลอตัว ทำให้ลดปริมาณการสั่งซื้อสินค้าประเภทวัตถุดิบลง

สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2558 คาดว่า จะหดตัวอยู่ในช่วง (-4.3%) – (-3.3%) โดยสาขาการผลิตที่หดตัวลง ได้แก่ สาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าว สับปะรดโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้

ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีทิศทางเพิ่มขึ้น สำหรับการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงปรับตัวดีขึ้น แต่เกษตรกรยังทำการผลิตไม่เต็มที่ เนื่องจากยังมีความกังวลเรื่องโรคระบาดและราคากุ้งมีแนวโน้มตกต่ำลง ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายการทำประมงอย่างเคร่งครัด ส่งผลกระทบต่อการการออกเรือไปจับสัตว์น้ำในทะเล ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ