คลัง-BOI ออกแพ็คเกจกระตุ้นลงทุนเอกชนปีนี้-ปีหน้าเพิ่มสิทธิประโยชน์-ลดหย่อนภาษี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 3, 2015 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยให้หักรายจ่ายเป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายเพื่อการลงทุนโดยจัดทำเป็นแผนงานหรือโครงการการลงทุนในทรัพย์สินใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินธุรกิจหลักของกิจการ ได้แก่ 1) เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ 2) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ 3) ยานพาหนะ 4) อาคารถาวร (ไม่รวมที่ดิน และไม่รวมถึงอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย) และต้องเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และทรัพย์สินนั้นจะต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้การได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว ทั้งนี้การใช้สิทธิดังกล่าวต้องปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

ทั้งนี้ การหักค่าใช้จ่ายจะต้องหักรายจ่ายลงทุนในจำนวนที่เท่ากันตามรอบระยะเวลาบัญชีที่กฎหมายกำหนดให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา และให้เริ่มใช้สิทธินับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา

สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สามารถใช้สิทธิมาตรการภาษีดังกล่าวได้ ดังนี้ 1) กรณีโครงการที่ได้มีการลงทุนไปแล้ว หากผู้ประกอบการประสงค์จะขอใช้สิทธิหักรายจ่าย 2 เท่า ผู้ประกอบการรายนั้นจะต้องมีการลงทุนในโครงการใหม่แยกต่างหากจากโครงการเดิมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว

2) กรณีโครงการที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว แต่ยังไม่มีการลงทุน และสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนของ สกท. ผู้ประกอบการสามารถเลือกการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) หรือเลือกใช้สิทธิหักรายจ่ายเพื่อการลงทุน 2 เท่า เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยหากเลือกใช้สิทธิหักรายจ่ายเพื่อการลงทุน 2 เท่า ผู้ประกอบการจะต้องจดแจ้งขอใช้สิทธิกับกรมสรรพากร และ สกท. ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ทั้งนี้ สิทธิหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนเท่าแรกเป็นการหักตามปกตินับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา และอีก 1 เท่า ให้หัก นับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนสิ้นสุดลงโดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

ทั้งนี้ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม โดยจะทำให้ภาคเอกชนตัดสินใจเร่งรัดการลงทุนเร็วและมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน และการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจในระยะสั้นเพิ่มขึ้น รวมทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนไทยในระยะยาว ซึ่งจะสามารถชดเชยรายได้ภาษีที่สูญเสียไปได้ในอนาคต "สำหรับลูกค้า BOI ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ ม.ค.57-มิ.ย.59 ถ้ามีการลงทุนถึง 70% ในมิ.ย.59 จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ 4 ปี แต่ถ้าลงได้ 50% ในมิ.ย.59 จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ 3 ปี แต่ถ้าลงได้ 50%ในธ.ค.59 จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ 2 ปี แต่ถ้าลงไม่ทันใน 3 กรณีนี้แต่สามารถเปิดดำเนินงานได้ในปี 60 จะให้เพิ่ม 1 ปี แต่กฎหมาย BOI กำหนดไว้ว่าทั้งหมดต้องไม่เกิน 8 ปี" นายอภิศักดิ์ กล่าว

ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับ BOI นั้นทางกระทรวงการคลังกำหนดว่าใครที่ลงทุนในปีนี้จนถึงสิ้นปีหน้า จะให้สิทธิพิเศษเรื่องการหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินลงทุน เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนหายไปนานพอสมควร และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาการลงทุนในภาคเอกชนไม่ค่อยดีนัก ผลที่ตามมาคือประสิธิภาพของประเทศด้อยลง มีผลต่อการส่งออกและไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ตรงนี้ถือเป็นการปรับโครงสร้างในการผลิตของประเทศไทยด้วย และแข่งขันกับต่างประเทศได้

สิ่งที่จะสามารถหัก 2เท่าของเงินลงทุนได้ คือ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ คอมพิวเตอร์ สิ่งปลูกสร้าง และรถยนต์ที่ต้องใช้งานซึ่งจะมีผลดีต่อ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย แต่ต้องใช้ในธุรกิจห้ามใช้ส่วนตัว

"ผู้ประกอบการที่ได้สิทธิ BOI สามารถเลือกได้ว่าจะเลือกสิทธิของ BOI หรือสิทธิทางภาษีของกระทรวงคลัง ต้องแจ้งสรรพากรภายในสิ้นปีนี้" รมว.คลัง กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ