4 รมต.เศรษฐกิจเร่งกระตุ้นลงทุนรัฐ-เอกชนขับเคลื่อนศก.ท่ามกลางความผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 28, 2016 10:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

4 รัฐมนตรีเศรษฐกิจ ประกอบด้วย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในงาน TEPCoT Dinner Talk "สองแพร่งเศรษฐกิจ:จุดเปลี่ยนประเทศไทย"

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยจะเติบโตได้เท่าไรนั้นอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ ซึ่งหมายถึงความเชื่อมั่นของทั้งประชาชนและนักลงทุนว่ามีความมั่นใจมากน้อยเพียงใด เพราะหากมีความมั่นใจก็มีส่วนช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ แต่หากขาดความมั่นใจก็มีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโต ดังนั้นความเชื่อมั่นจึงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก

พร้อมมองว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะเติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ที่ขยายตัวได้ราว 2.9-3% ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาถือว่าทำได้ดี ในภาวะที่การส่งออกติดลบถึง 5%

"เศรษฐกิจของประเทศเราจะโตเท่าไรนั้น อยู่ที่ใจ อยู่ที่ความมั่นใจของเราว่ามั่นใจแค่ไหน ถ้าคิดว่าดีมันก็จะดี แต่ถ้าคิดว่าแย่มันก็จะแย่ แต่ที่คาดกันไว้นั้นมองว่าเศรษฐกิจปีนี้น่าจะดีกว่าปี 58 โดยปีที่ผ่านมาโตได้ราว 2.9-3% ทั้งๆ ที่ส่งออกติดลบไปกว่า 5% แต่เราก็ยังสามารถ maintain ได้" รมว.คลัง กล่าว

รมว.คลัง กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการและให้ความช่วยเหลือในภาคต่างๆ ทั้งภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ซึ่งหากไม่มีมาตรการช่วยเหลือลงไปประคับประคองไว้ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยอาจจะซึมลึกมากไปกว่านั้น อย่างไรก็ดี มาตรการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่ระยะยาวประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุน ซึ่งรัฐบาลก็มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการที่เตรียมจะดำเนินการ แต่ต้องใช้เวลาหลายปี ดังนั้นระหว่างนี้จึงต้องมีการลงทุนในโครงการขนาดเล็กช่วยเติมเต็มช่องว่างในส่วนนี้ไปก่อน เพื่อให้ยังมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ มองว่า ในปีที่ผ่านมาสิ่งที่ขาดหายไปอย่างมาก คือ การลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งพบว่าในปี 58 การลงทุนของภาคเอกชนมีเพียง 19% ของ GDP เท่านั้น จากระดับปกติที่ในแต่ละปีการลงทุนของภาคเอกชนจะคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 100-200% ของ GDP ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างมาก

"ปี 58 การลงทุนของเอกชนมีน้อยมาก เพียงแค่ 19% ของ GDP ปกติแล้วถ้าเป็นปีที่ boom จริงๆ การลงทุนของเอกชนจะสูงถึง 100% หรือบางปีสูงถึง 200% ของ GDP ซึ่งนี่เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ ถ้าขาดการลงทุนของเอกชน ประเทศจะขับเคลื่อนไม่ได้" นายอภิศักดิ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการที่ถือเป็นยาแรงเพื่อต้องการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนกลับมา ซึ่งนอกเหนือไปจากการให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนของ BOI คือการให้ผู้ประกอบการสามารถนำรายจ่ายจากการลงทุนมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลพยายามที่จะช่วยสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนเป็นอย่างมาก

รมว.คลัง กล่าวว่า การที่รัฐบาลจำเป็นต้องเน้นกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนให้มากขึ้น เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นการจะหวังพึ่งพาแต่การส่งออกก็คงจะไม่ได้ จึงจำเป็นต้องดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีการเติบโตและอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะหากเศรษฐกิจโลกเกิดปัญหาขึ้นมา ประเทศไทยก็จะยังสามารถพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศเองได้

"ที่เราต้องทำ เพราะเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง ถ้าเรามัวแต่หวังพึ่งส่งออก หากเกิดอะไรขึ้นมา ถ้าเราไม่มีมาตรการรองรับ ก็จะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต ดังนั้นเราต้องมอง Local Economy ด้วย ต้องดูแลเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโต" รมว.คลัง ระบุ

ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 59 นี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกของไทยไว้ว่าจะขยายตัวได้ 5% ซึ่งการตั้งเป้าหมายดังกล่าวยอมรับว่าแม้จะเป็นการกดดันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเองก็ตาม แต่ก็จะทำให้เกิดการผลักดันการทำงาน เพราะการส่งออกยังเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า

โดยในรอบปีที่ผ่านมา ปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่มีราคาส่งออกลดลงตามปัจจัยราคาน้ำมันโลก และหากในปีนี้ราคาน้ำมันยังลดลงก็จะยิ่งมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงพาณิชย์จะมุ่งเน้นการเจาะตลาดสินค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) ให้มากขึ้น ซึ่งมองว่าตลาดนี้เป็นตลาดที่กำลังมีการเติบโตอย่างมาก ประกอบกับรัฐบาลได้มีการสร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่งไว้รองรับ ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในอาเซียน และจะยิ่งทำให้การทำการค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปด้วยความสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ก็จะยังไม่ทิ้งตลาดส่งออกหลักสำคัญของไทยที่ยังถือว่าเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

"เราเป็นจุดยุทธศาสตร์ของอาเซียน ทุกประเทศที่เคยไปลงทุนที่อื่นๆ เริ่มหันกลับมาไทย และมองว่าไทยน่าสนใจ และเป็นศูนย์กลางอาเซียนที่แท้จริง เพราะฉะนั้นเราต้องใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางนี้ และจาก connectivity ต่างๆ เพื่อขยายการค้าและการลงทุนออกไป" นางอภิรดี กล่าว

พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์จะให้การสนับสนุนสินค้าภาคบริการมากขึ้น เนื่องจากสินค้าภาคบริการสามารถทำรายได้เข้าประเทศในแต่ละปีค่อนข้างมาก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศเป็นนโยบายที่พร้อมจะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการของไทยอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านโลจิสติกส์, Digital Content, ด้านสุขภาพและความงาม และด้านการรักษาพยาบาล ในขณะเดียวกันก็ยังไม่ลืมที่จะสนับสนุนสินค้าที่ยังเป็นจุดแข็งของไทย นั่นคือสินค้าเกษตร โดยจะร่วมกันพัฒนาสินค้าเกษตรไทยให้มีมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้มีราคาสูงขึ้น และช่วยผลักดันผู้ประกอบการรายใหม่ให้สามารถแข่งขันในเวทีตลาดโลกมากขึ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ยอมรับว่า การลงทุนของภาครัฐที่ผ่านมาน้อยมาก หลังจากเกิดวิกฤตปี 2540 และในช่วงปี2557 มีการลงทุนจากภาครัฐและการลงทุนจากรัฐวิสาหกิจเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมามีการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจคเพียง 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินเมื่อปี 2547 และสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2549 และจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของรัฐสูงขึ้น โดยจะเห็นเม็ดเงินในช่วงไตรมาสที่ 2 มากขึ้น และจะเป็นเม็ดเงินเพื่อการลงทุนต่อเนื่องในระยะยาว และจะเห็นการเดินหน้าก่อสร้างในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้มีการเดินหน้าโครงการตามโรดแมปของรัฐบาล โดยยึดตามกรอบระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน ซึ่งโครงการใดที่มีความพร้อมก็ให้ดำเนินการได้ทันที แต่หากโครงการใดที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษา รวมถึงการทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมก็ให้ส่งต่อไปยังรัฐบาลต่อไป

ซึ่งในส่วนความคืบหน้าในโครงการต่างๆ นั้น นายอาคม เปิดเผยว่า ในส่วนรถไฟไทย-จีน จะมีการเดินทางไปจีนในวันนี้ (28 ม.ค.) เพื่อเจรจาถึงความคืบหน้าของโครงการ โดยจะมีการการหารือให้ทางจีนลดขนาดของการก่อสร้างเพื่อประหยัดต้นทุนมากขึ้น และเจรจาให้ทางจีนมีการออกเงินในโครงการให้มากขึ้น ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 อยู่ระหว่างการประกวดราคา และคาดว่ากลางปีจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้

สำหรับรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการ PPP และในโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย ในขณะนี้ก็มีความคืบหน้าในทุกเส้นทาง

ด้านนางอรรชกา ศรีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปีนี้จะเร่งเดินหน้าให้เอกชนมีการลงทุนมากขึ้น และจะดึงเอกชนไทยที่เคยย้ายฐานการผลิตกลับเข้ามาในประเทศ เพราะที่ผ่านมามีนักลงทุนย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศอื่น เนื่องจากสู้ค่าแรงไม่ไหว โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศกัมพูชาและเวียดนาม แต่หลังจากที่รัฐบาลได้มีการอนุมัติการลงทุนในกลุ่มคลัสเตอร์ โดยหนึ่งในนั้นมีการส่งเสริมด้านสิ่งทอ เน้นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจไม่ต่ำกว่า 20 โรงงาน

ทั้งนี้ ในส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้น ในต้นเดือนหน้า (ก.พ.59) กระทรวงอุตสาหกรรมจะเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้ เพื่อหารือกับบริษัทซัมซุงเพื่อชักจูงให้มาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ จะเร่งรัดโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้วให้เดินหน้าลงทุนให้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากในช่วง 2-3 ปี มีคำขอการลงทุนเป็นจำนวนมาก และได้มีการออกใบอนุญาติไม่ต่ำกว่า 5,000 โรงงาน คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 6 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะได้เห็นโครงการลงทุนใหม่ๆ หรือมีการขยายการลงทุนในไทยมากขึ้นอีกด้วย โดยรัฐบาลพร้อมให้สิทธิพิเศษเพิ่มเติมให้กับอุตสาหกรรมที่มาลงทุนในกลุ่มคลัสเตอร์ต่างๆ และหากโครงการใดที่เน้นด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีก็พร้อมให้จะสิทธิพิเศษมากขึ้นกว่าเดิมด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ