เงินบาทเย็นนี้ 35.70 แข็งค่าตามภูมิภาค ขานรับผลประชุม BOJ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 29, 2016 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทเย็นนี้ที่ระดับ 35.70 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 35.81/83 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค หลังรู้ผลประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
"บาทแข็งค่าตามภูมิภาคหลังรู้ผลประชุม BOJ สัปดาห์หน้าบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าในระยะสั้นๆ" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดสัปดาห์หน้าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.50-36.00 บาท/ดอลลาร์

ล่าสุด THAI BAHT SPOT RATE FIXING อยู่ที่ระดับ 35.7200 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 120.85 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 118.56/61 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0897 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0939/0941 ดอลลาร์/ยูโร
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือน ธ.ค.58 ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับผลบวกเพิ่มเติมจากปัจจัยชั่วคราว การใช้จ่ายในประเทศยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนที่ส่วนหนึ่งได้รับผลบวกจากการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต และมาตรกากรระตุ้นการใช้จ่ายช่วงก่อนปีใหม่ ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้น นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน ธ.ค.58 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ระดับ 49.1 มาอยู่ที่ระดับ 49.9 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นตามองค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ และผลประกอบการของผู้ประกอบการที่มิใช่อุตสาหกรรมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มค้าปลีกจากมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปี ขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ปรับดีขึ้นจากการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนมาตรการภาษีใหม่บังคับใช้ในปี 59
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุสาหกรรม(สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนธ.ค. อยู่ที่ 105.07 ขยายตัว 1.33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีฯ ของปี 58 ขยายตัวได้ 0.3%

ขณะที่ คาดภาวะเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมในปี 59 จะเติบโตได้ 3-4% ฟื้นตัวจากปี 58 ที่คาดว่าจะเติบโตราว 0-1% ภายใต้สมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยในปีนี้ที่ ระดับ 37-38 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบที่ 40-45 ดอลลาร์/บาร์เรล แม้การขยายตัวจะยังอยู่ในอัตราต่ำ แต่หากเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วจะพบว่าแนวโน้มของไทยปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางภาพรวมของภาคอุตสาหกรรม

  • นายฮารุฮิโกะ คูโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า BOJ จะเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไป หากจำเป็น

ถ้อยแถลงของนายคูโรดะมีขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ BOJ มีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 ให้ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ โดยมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่อัตรา -0.1% สำหรับเม็ดเงินที่สถาบันการเงินต่างๆนำมาสำรองฝากไวักับ BOJ

  • ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะทำการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ประจำปีของธนาคารรายใหญ่ 33 แห่ง ซึ่งรวมถึงเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค และแบงก์ ออฟ อเมริกา เพื่อประเมินว่าธนาคารเหล่านี้จะสามารถรับมือได้มากน้อยเพียงใดเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย อัตราว่างงานในสหรัฐพุ่งขึ้นเป็นสองเท่าสู่ระดับ 10% และเกิดภาวะเงินฝืดระดับปานกลาง
  • ข้อมูลเบื้องต้นของสำนักงานสถิติรายงานว่า เศรษฐกิจไต้หวันหดตัวลงเมื่อเทียบรายปี ติดต่อกันสองไตรมาส เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในประเทศ หดตัวลง 0.28% ในในไตรมาส 4/2558 เทียบรายปี ส่วนในปี 2558 GDP ไต้หวันขยายตัว 0.85%

  • นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้มีการหารือกับนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทางโทรศัพท์ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมถึงในจีน
  • ธนาคารกลางจีนประกาศอัดฉีดเม็ดเงินอีก 1 แสนล้านหยวนเข้าสู่ตลาดการเงินผ่านการดำเนินงานทางตลาดเงิน (open market operations) ในวันนี้ ซึ่งส่งผลให้ยอดรวมการอัดฉีดเงินในช่วงสัปดาห์นี้แตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 6.9 แสนล้านหยวน
  • สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น เผยการผลิตรถยนต์ รถบรรทุก และรถบัสของญี่ปุ่นในเดือน ธ.ค.58 ร่วงลง 2.3% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 749,693 คัน เทียบกับ 767,052 คันในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 2 เดือน สำหรับอุปสงค์รถยนต์ภายในประเทศอยู่ที่ 369,460 คัน ซึ่งหดตัวลง 14.5% ขณะที่การส่งออกรถยนต์ รถบรรทุก และรถบัสของญี่ปุ่นในเดือน ธ.ค.58 เพิ่มขึ้น 8.1% เทียบรายปี แตะ 411,865 คัน จาก 381,113 คันในเดือน ธ.ค.ปีก่อนหน้า โดยเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน
  • คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (EDB) ระบุภาคการผลิตของสิงคโปร์มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ