พร้อมชี้ให้เห็นว่า การใช้มาตรการยาแรงดังกล่าวของ ECB ไม่ได้ทำให้ทุกประเทศประสบผลสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจเสมอไป เช่น ญี่ปุ่น แม้จะอัดฉีดเงินเข้าไป แต่เม็ดเงินก็ยังไม่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง เพราะพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนก็ยังเป็นเหมือนเดิม ในขณะที่สหรัฐฯ อาจจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจบ้าง เนื่องจากดำเนินมาตรการในลักษณะนี้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว
นายทนง กล่าวว่า การที่เม็ดเงินไม่ได้ลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงนั้น จึงทำให้เม็ดเงินส่วนนี้ไหลไปสู่การลงทุนในตลาดหุ้น ดังเช่นที่ผ่านมาจะเห็นว่าตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้น และตลาดหุ้นไทยเองก็ได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้ ทั้งๆ ที่พื้นฐานเศรษฐกิจของไทยเองไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด
"เงินพวกนี้ก็จะไปลงทุนในตลาดหุ้น จึงเห็นตลาดหุ้นทั่วโลกกระเพื่อมขึ้น ตลาดหุ้นไทยก็ได้รับผลพวงด้วย ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้นเลย มันขึ้นจากปริมาณเงินที่ทะลักอยู่ทั่วโลก เงินมันไหลไปในจุดที่ผลประกอบการดีกว่าที่อื่น ไทยยังดอกเบี้ยสูงกว่าคนอื่น ตลาดหุ้นไทย PE ก็ยังต่ำกว่าที่อื่น ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น นักลงทุนกระจายเงินที่เหลือจากการอัดฉีด วนอยู่ข้างบน เหมือนก้อนเมฆ ไม่เป็นฝนตกลงมาเสียที ถ้าเป็นฝนตกลงมา มันก็จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง ต้นไม้ก็โตได้ แต่มันไม่ตกเสียที ต้องใช้เวลานานมาก" อดีต รมว.คลัง กล่าวพร้อมระบุว่า สิ่งที่จะเห็นในช่วงสั้นๆ ภายในระยะเวลา 1 ปีจากนี้ คือ ตลาดการเงินและตลาดหลักทรัพย์จะกระเตื้องขึ้น ขณะที่ทุกประเทศก็ยังพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจกันอยู่ แต่สหรัฐฯ คงเริ่มไม่แน่ใจว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ เพราะแต่ละประเทศทั้งจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรปต่างก็ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของตัวเองเช่นกัน
"ยาแรงที่ ECB ออกมานี้ คงช่วยประเทศที่จน ประเทศที่มีปัญหา ช่วยแบงค์ยุโรปที่เป็นเจ้าหนี้อยู่ในประเทศทั้งหลายให้มีความสามารถในการปล่อยกู้ ในการเจรจาลดหนี้ ในการดูแลกรีซ อิตาลี คือไปได้ในภาคการเงินการลงทุน แต่ไม่ใช่ภาคเศรษฐกิจแท้จริง ต้องใช้เวลาอีกระยะ...สิ่งที่ไทยจะได้ คือความหวือหวาของตลาดหุ้นที่เงินจะเริ่มไหลเข้ามา" นายทนง กล่าว