ก.พลังงาน-คมนาคม-วิทยาศาสตร์ฯ หนุน SETA 2016 เปิดประตูสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงาน มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 18, 2016 11:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

3 กระทรวงหลัก กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานภาคเอกชน ประสานความร่วมมือสู่การพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน ชูงานการประชุมและนิทรรศการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย ประจำปี 2559 (SETA 2016) ที่จัดขึ้นครั้งแรกในไทย ระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคม 2559 เปิดประตูสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด มุ่งเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการใช้พลังงานของประเทศที่มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการจัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว พ.ศ.2558-2579 หรือ Thailand Integrated Energy Blueprint (TIEB) เพื่อสร้างสมดุลทางด้านพลังงาน คือให้มีความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ให้มีราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ในขณะเดียวกัน ก็ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยสอดคล้องกับกระแสของโลกที่มุ่งเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ภายหลังการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (COP21) ที่ผู้นำแต่ละประเทศแสดงเจตจำนงที่ดำเนินการตามข้อตกลงปารีสในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ

โดยการจัด SETA 2016 ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคม 2559 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กระทรวงพลังงานให้การสนับสนุนการจัดงานดังกล่าวให้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยนั้น จะเป็นโอกาสสำคัญ ที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดด้านแผนพลังงานให้ตัวแทนของหน่วยงานจากต่างประเทศ ทั้งที่มาจากภาคนโยบาย ภาคของผู้ผลิตพลังงาน และภาคของผู้ใช้พลังงาน ได้เข้าใจถึงแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 5 แผน

อันได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2015) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan 2015) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan 2015) ที่สอดคล้องกับสภาพทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของไทย และมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยสำหรับด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อลดการปล่อย CO2 ลงจากปัจจุบัน 37% ในปี 2579 เมื่อเทียบกับการดำเนินการตามปกติ

"กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการพลังงานโดยในปี 2559-2560 ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพลังงานทดแทนและด้านการอนุรักษ์พลังงาน การเริ่มดำเนินตามแผนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เตรียมรองรับการประมาณการเติบโตด้านยานยนต์ไฟฟ้า ที่คาดว่าจะมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าราว 1.2 ล้านคัน ในปี พ.ศ.2579 การดำเนินการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้นแบบ (Smart City) รวมทั้งสนับสนุนงานวิจัยจัดระบบให้เหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละภูมิภาค SETA 2016 ถือเป็นการเปิดประตูแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ และเปิดต้อนรับนักลงทุนต่างประเทศ ที่จะเข้ามาลงทุนด้านพลังงานและใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าและเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ทันสมัย และนวัตกรรมทางพลังงานที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย"นายอารีพงศ์ กล่าว

ด้านนายสมศักดิ์ ห่มม่วง ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ภาคการขนส่ง ถือเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อการใช้พลังงาน โดยเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ยังคงเป็นน้ำมัน แต่ในอนาคตการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์กำลังมุ่งไปสู่ยานยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า และเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ออกมาจากท่อไอเสีย ดังนั้น หากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป มาสู่ยานยนต์ที่ไม่ใช้น้ำมัน การวางแผนการผลิตไฟฟ้าจะต้องมีความยืดหยุ่นพอที่จะรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ ซึ่งในงาน SETA 2016 จะได้มีการอภิปรายถึงความสำคัญของทิศทางของการใช้เชื้อเพลิงในการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพลังงานชีวภาพ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นทางเลือกของระบบขนส่งในอนาคตมากกว่าการใช้พลังงานฟอสซิล รวมถึงจะมีการสัมมนาในหัวข้อ “เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ในประเทศไทย" ด้วย

นายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงาน อาทิเช่น การวิจัยพลังงานเพื่อทดแทนน้ำมัน จะเน้นการวิจัยเรื่องการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซล การวิจัยพลังงานเพื่อทดแทนไฟฟ้า/ความร้อน จะเน้นเรื่องพลังงานจากขยะ ก๊าซชีวภาพ และชีวมวล รวมถึงการวิจัยเรื่องพลังงานจากแสงอาทิตย์ จากลม และจากพลังงานน้ำ ตลอดจนพลังงานรูปแบบใหม่ แนวโน้มในอนาคตที่จะวิจัยเพิ่มมากขึ้นคือเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า

สำหรับงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำมาแสดงในงาน SETA 2016 นั้นจะเน้นที่งานวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทน อาทิเช่น นวัตกรรมการผลิตน้ำมันชีวภาพจากการเพาะเลี้ยงสาหร่าย นวัตกรรมเทคโนโลยีสำหรับการเพิ่มคุณภาพไบโอดีเซล (H-FAME) และการวิจัยและพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอนแบบรอยต่อเฮเทอโร เป็นต้น

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ. กล่าวว่า แนวทางการวางแผนเพื่อสร้างความยั่งยืนทางพลังงาน ภายใต้แผน PDP 2015 มุ่งเน้นการสร้างสมดุลพลังงานด้วยการลดความเสี่ยงการพึ่งพาเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งชนิดใดมากเกินไป โดยดูแลต้นทุนและสิ่งแวดล้อมคู่กันไป กฟผ. ได้พัฒนาการผลิตไฟฟ้าโดยมุ่งเน้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนควบคู่ไปด้วย

โดยตามแผน PDP 2015 ประเทศไทยมีแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนรวมประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจากเป้าหมายดังกล่าว กฟผ. มีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรวมประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579

นอกจากนี้ กฟผ. ยังร่วมตอบสนองยุทธศาสตร์ภาคสังคมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ กฟผ. ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม COP21 ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมาย จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% จากระดับที่คาดว่าประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2573 จำนวน 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้น ไทยจะต้องลดการปล่อยลงให้ได้ 111-139 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2573 โดย กฟผ. ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายนี้ ด้วยการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุ การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า โดยปรับเปลี่ยนอุปกรณ์โรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น การประหยัดพลังงานด้วยโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management: DSM) รวมถึงดำเนินโครงการปลูกป่า กฟผ. อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ SETA 2016 กล่าวว่า การจัดงาน SETA 2016 ครั้งนี้ จะได้รวบรวมเอาองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางด้านพลังงานที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาไว้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และรับฟังผลการวิจัยและกรณีศึกษาต่าง ๆ ผ่านการประชุมทางวิชาการในหัวข้อต่าง ๆ กว่า 100 หัวข้อใน 4 ประเด็นหลักที่ ครอบคลุมทั้งด้านนโยบายและแผนพลังงาน ด้านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัย พลังงานทางเลือกเพื่อการคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยีพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการบรรยายด้านแผนนโยบายพลังงานจากหลายประเทศ มีการแสดงเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้บริหารระดับสูงและผู้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานกว่า 300 คนจาก 15 ประเทศเข้าร่วมการประชุม และผู้เข้าร่วมงานโดยรวมกว่า 2,500 คนตลอด 3 วันในการจัดงานซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้เห็นถึงโอกาสของการลงทุนด้านพลังงานในประเทศไทย รวมทั้งเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินชั้นนำของโลก คาดว่าจะมีการพบปะระหว่างคู่ค้า และการจับคู่ทางธุรกิจกว่า 300 รายการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ