(เพิ่มเติม) กกพ. เดินหน้าจับสลากผู้ผ่านคุณสมบัติรอบแรก"โซลาร์ฟาร์ม"พรุ่งนี้,ปรับบางโครงการเข้าร่วม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 20, 2016 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเทศ ศรีชมภู ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.จะเดินหน้าจับสลากสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) ในวันพรุ่งนี้ (21 เม.ย.) หลังได้ 167 โครงการเป็นผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมจับสลาก แม้ล่าสุดเมื่อวานนี้จะได้ปรับบางโครงการให้มีสิทธิเข้าร่วมจับสลาก หลังได้ถอดบางโครงการออกเพราะพบปัญหาไม่มี Feeder (สายป้อน) รองรับ

"เราประกาศผ่านคุณสมบัติตอนตรวจสอบ 167 โครงการ เมื่อนำ Feeder แจ้งเข้าสู่ระบบเพื่อประมวลผลเพื่อเตรียมการจับสลาก พบว่ามี 1 โครงการ Feeder ที่แจ้งมาเป็น Feeder ที่ใช้นอกพื้นที่รับซื้อ ฉะนั้น ถึงจับสลากเข้าไปก็จะไม่เข้าสู่กระบวนการประมวลผลที่จะยึดโยงกับ Feeder ที่อยู่ในท้ายประกาศรับซื้อเพราะอยู่นอกพื้นที่ ดังนั้น เพื่อเป็นประโยชน์ของโครงการที่อยู่ถัดต่อเนื่อง เข้าใจว่าโครงการที่อยู่ถัดต่อเนื่องเป็นโครงการที่เสียสิทธิไปอันเนื่องจากทุนจดทะเบียน...เมื่อโครงการแรกถูกตัดคุณสมบ้ติออกไปจาก Feeder ที่อยู่นอกเขต ดังนั้น โครงการที่อยู่ในคิวก็เลยเข้ามาแทน"นายประเทศ กล่าว

กกพ.ออกประกาศและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ ไม่เกิน 800 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจำนวน 600 เมกะวัตต์ และประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น 167 ราย กำลังการผลิตรวม 798.62 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกลุ่มสหกรณ์การเกษตรทั้งหมด ขณะที่กลุ่มราชการถูกตัดสิทธิในรอบนี้ เพราะขัดหลักเกณฑ์พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ทำให้การจับสลากระยะแรกจะคัดเลือกให้เหลือเพียง 300 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโควตาในส่วนของกลุ่มสหกรณ์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเย็นวานนี้ กกพ.ได้ออกประกาศเพิ่มเติมสำหรับรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมจับสลากในวันที่ 21 เม.ย. โดยได้ถอดโครงการของสหกรณ์ศุภนิมิตรบ้านคา ราชบุรี ซึ่งมีคุณสมบัติไม่ตรงตามหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการ และให้โครงการสหกรณ์นิคมบางสะพาน ซึ่งมีผู้สนับสนุนโครงการรายเดียวกัน เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการแทน

นายวีระพล จิระประดิษฐกุล กรรมการกกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากโครงการที่เสนอมาไม่ได้รับคัดเลือกทั้งหมดเพราะมีทุนจดทะเบียนเพียงพอรองรับไม่ครบทุกโครงการ ขณะที่โครงการที่ถูกถอดออกเพราะปัญหาเรื่อง Feeder ทำให้โครงการทีสองที่ถูกคัดออกเพราะทุนจดทะเบียนไม่พอ ก็เปลี่ยนมาใช้ทุนจดทะเบียนของโครงการที่ถูกถอดออกทดแทน เพราะโครงการที่สองนั้นมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ทุกอย่างยกเว้นเพียงเรื่องทุนจดทะเบียน

ทั้งนี้ ทุนจดทะเบียนของผู้สนับสนุนโครงการนับเป็นสาระสำคัญในการพิจารณาคุณสมบัติผู้ผ่านการคัดเลือก โดยผู้สนับสนุนโครงการจะสามารถสนับสนุนโครงการได้ไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ หรือไม่เกิน 10 โครงการ และจะต้องมีทุนจดทะเบียนรองรับ 2 ล้านบาท/เมกะวัตต์

นายวีระพล ยังยืนยันด้วยว่ากลุ่มสหกรณ์ที่ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้นนั้น จากการตรวจสอบไม่พบว่ามีกลุ่มสหกรณ์บริการผ่านการคัดเลือกเข้ามา ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์การคัดเลือกของ กกพ.และกลุ่มสหกรณ์ดังกล่าวต้องได้รับการรับรองจากกรมส่งเสริมสหกรณ์จังหวัดด้วย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสหกรณ์ที่ดี และยืนยันว่าการยกเว้นบังคับใช้ผังเมืองสำหรับการพิจารณาคุณสมบัติครั้งนี้ ได้มีการหารือกับหลายฝ่ายทั้งในส่วนของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย

หลังจาก กกพ.ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว จะคัดกรองผู้ยื่นคำขอที่ผ่านคุณสมบัติด้วยวิธีจับสลาก สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากสหกรณ์ภาคการเกษตร ตามเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าในเฟสแรก จำนวน 300 เมกะวัตต์ ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ โดยผู้ที่ผ่านคุณสมบัติต้องนำเอกสารใบรับคำขอที่ได้รับในวันสมัคร ไปแสดงตนเพื่อลงทะเบียนในเวลา 08.00-09.30 น. ก่อนทำการจับสลากตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และสำนักงาน กกพ.จะประกาศผลการคัดเลือกในเบื้องต้นหลังจาก จับสลากทุกโครงการแล้วเสร็จ และประกาศผลการคัดเลือกอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 เม.ย.59 ทั้งนี้ เจ้าของโครงการจะต้องดำเนินการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในวันที่ 30 ธ.ค.59

อนึ่ง ผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้าที่ผ่านคุณสมบัติ (เฉพาะสหกรณ์ภาคการเกษตร) เพื่อเข้าสู่การคัดเลือกโดยการจับสลาก รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 167 ราย และไม่ผ่านคุณสมบัติ จำนวน 67 โครงการ จากที่สหกรณ์ภาคการเกษตรได้ยื่นคำขอขายไฟฟ้ามา จำนวน 234 โครงการ และคิดเป็นปริมาณการเสนอขายไฟฟ้ารวมเป็นจำนวน 798.62 เมกะวัตต์ และเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้ในเฟสแรกจำนวน 300 เมกะวัตต์ ยังคงสูงกว่าเป้าหมายอยู่

สำหรับจำนวนสหกรณ์ภาคการเกษตร ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ 67 รายนั้น จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ได้ยื่นมา พบว่ามีหลายสาเหตุที่ไม่ผ่านคุณสมบัติการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่ กกพ.กำหนดไว้ อาทิ ไม่ผ่านมาตรฐานสหกรณ์ ที่ตั้งโครงการไม่ได้อยู่ในแดนดำเนินการของสหกรณ์ หรือหนังสือแจ้ง Feeder ระบุชื่อผู้ขอตรวจสอบไม่ตรงตามคำขอ เป็นต้น

ขณะที่จำนวนหน่วยงานราชการทั้งหมดที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ 370 ราย สาเหตุสำคัญที่ไม่ผ่านคุณสมบัติการคัดเลือก เนื่องจากไม่พบเอกสารหลักฐานว่าได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 พ.ย.58 ตามหลักเกณฑ์ที่ กกพ.ได้กำหนดไว้

นอกจากนี้ กรณีประเด็นคุณสมบัติของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ แม้จะไม่ใช่ส่วนราชการ แต่ยังถือได้เป็นหน่วยงานของรัฐ จึงต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ รวมถึงกรณีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานราชการ ได้ใช้ที่ดินของวัดร้าง ศาสนสมบัติกลาง หรือที่ดินที่บริจาค เพื่อดำเนินโครงการนั้น ก็ยังคงต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และ พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ตลอดจนหลักเกณฑ์ตามระเบียบ กกพ.ว่าด้วยการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการฯ ที่กำหนดให้ต้องใช้ที่ดินจากหน่วยงานราชการหรือที่ราชพัสดุที่ได้ครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์แล้วเท่านั้น

กรณีหากใช้ที่ดินของวัดร้าง ตามกฎหมายก็ถือว่าเป็นเพียงการปกครอง ดูแลรักษา ยังไม่ถือเป็นการครอบครองในฐานะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งถ้าโครงการดังกล่าวไม่ได้ร่วมทุนกับเอกชนและไม่ได้ผ่านกระบวนการตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ก็ถือว่าไม่ผ่านหลักเกณฑ์ หรือเช่นเดียวกับกรณีใช้ที่ดิน ศาสนสมบัติกลางหรือที่ดินที่บริจาคที่สำนักงานพระพุทธฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ก็ถือว่าเป็นโครงการของหน่วยงานราชการ ซึ่งต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ หากไม่ได้ดำเนินการก็ถือว่าไม่ผ่านหลักเกณฑ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ