ศูนย์กสิกรฯ คาดเม็ดเงินลงทุนพลังงานทดแทนปี 56-61 สะพัดกว่า 1.1-1.5 แสนลบ. รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 7, 2016 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่า มูลค่าการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้าในช่วงปี 2559-2561 น่าจะอยู่ที่ราว 1.1-1.5 แสนล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด รองลงมาคือ พลังงานลม ชีวมวลและขยะ ตามลำดับ ส่วนในระยะถัดไปจนถึงปี 2579 หรือสิ้นสุดแผน PDP 2015 (ปี 2562-2579) คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจพลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้าถึง 5.35 แสนล้านบาท

ในช่วงที่ผ่านมา ภาพรวมของการใช้พลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้าของไทย มีแนวโน้มเติบโตดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากภาครัฐที่ต้องการผลักดันการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ให้ได้ 20% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย (ปัจจุบันอยู่ที่ 12.9% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย)ภายในปี 2579 ในส่วนของภาคการผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงเป้าหมายที่ทางการได้วางไว้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2558–2579 (PDP 2015) จะพบว่า เป้าหมาย ณ ปี 2579 จะมีการผลักดันการใช้พลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้าสูงราว 19,684.40 เมกะวัตต์ ในขณะที่ปัจจุบัน มีการดำเนินการผลิตตามเป้าหมายไปแล้ว 8,271.24 เมกะวัตต์ หรือ 42.0% ของเป้าหมายตามที่ได้คาดการณ์ไว้

ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจพลังงานทดแทนในปีนี้ ยังพอมีโอกาสเติบโตได้ จากแรงหนุนความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ล่าสุดพบว่า ความต้องการใช้กำลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ในปี 2559 อยู่ที่ 29,618.8 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.3% และยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสภาพอากาศที่ร้อน ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นของภาครัฐที่จะต้องมีการเตรียมรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเข้ามาเป็นทางเลือกเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านพลังงาน จากการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในสัดส่วนที่สูง รวมถึงนโยบายการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงาน เพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ เพื่อนำไปสู่การใช้กลุ่มรถโดยสารสาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคลในอนาคต

โดยกลุ่มพลังงานที่มีแนวโน้มการผลิตเข้าใกล้เป้าหมายมากที่สุดได้แก่ พลังงานชีวมวล รองลงมาคือ พลังงานแสงอาทิตย์และขยะ ส่วนพลังงานลมนั้นยังถือว่าห่างไกลเป้าหมายมากพอสมควร ทั้งนี้ ในส่วนของพลังงานชีวมวลนั้น ถือเป็นพลังงานทดแทนในกลุ่มแรกๆ ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมทำให้มีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรปริมาณมาก ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทางเลือกเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ ทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเข้าใกล้เป้าหมายค่อนข้างเร็วกว่าประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ดี สำหรับในระยะต่อไป โอกาสด้านการลงทุนในพลังงานประเภทนี้ น่าจะเหมาะสำหรับผู้ประกอบในธุรกิจการเกษตรที่มีวัตถุดิบอยู่แล้ว เช่น โรงงานน้ำมันปาล์ม โรงงานน้ำตาล โรงไม้ยาง โรงสี ฯลฯ ที่ต้องการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในธุรกิจของตนเอง เพื่อลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าและสามารถขายไฟส่วนเหลือบางส่วนคืนกลับให้ กฟผ. ในรูปของการขายไฟแบบผู้ผลิตไฟรายเล็กและรายเล็กมาก (SPP และ VSPP) มากกว่าที่จะเป็นการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่ได้มี By Product หรือเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตอยู่ก่อนแล้ว

โดยกลุ่มชีวมวลที่ค่อนข้างมีศักยภาพที่สามารถดึงดูดการลงทุนได้ในระยะต่อไป ได้แก่ ประเภทอ้อย (เนื่องจากภาครัฐเตรียมที่จะผลักดันและพัฒนาผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น) ในขณะที่ชีวมวลแกลบ อาจจะเป็นกลุ่มที่ต้องจับตา ภายหลังจากที่ภาครัฐกำลังหารือเกี่ยวกับการจัดโซนนิ่งลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังลง เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตตกต่ำและจูงใจให้เกษตรกรไปปลูกพืชอื่นๆ แทน ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการที่ใช้เชื้อเพลิงแกลบเพื่อการผลิตไฟฟ้าในระยะข้างหน้า

ด้วยเหตุนี้ ส่งผลให้ในระยะหลังภาครัฐจึงเริ่มหันมาให้การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ก้าวไปสู่แผนที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ว่าจะต้องมีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ถึงร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FIT ที่มีระยะเวลาสัญญาซื้อขายไฟฟ้านาน 20-25 ปี จูงใจให้เกิดการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนอื่นๆ มากขึ้น อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ ขยะและพลังงานลม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดีพอสมควร

สำหรับแนวโน้มธุรกิจพลังงานทดแทนครึ่งหลังปี 2559 ไปจนถึงปี 2561 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังสามารถเติบโตต่อไปได้ ทั้งนี้ อาจจะเห็นภาพการลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทนประเภทพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังปี 2559 ภายหลังจากที่มีการปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าของโครงการโซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์การเกษตร รวมถึงการเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อป ที่เป็นโครงการนำร่องและส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า (จำนวน 100 เมกะวัตต์) ซึ่งในส่วนนี้น่าจะเอื้อต่อผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต-จำหน่าย-ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้าง ที่จะได้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจเพิ่มมากขึ้น จากตัวโครงการที่ผ่านการคัดเลือกและพร้อมจะดำเนินการภายในสิ้นปี 2559 คิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 23,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ หากมองไประยะข้างหน้า นอกเหนือจากตลาดในประเทศแล้ว ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์อาจมีแนวโน้มกระจายไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มหันมาเจาะตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในแถบเอเชีย (ญี่ปุ่นและอาเซียน ที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ปริมาณมาก) เนื่องจากตลาดในประเทศมีความคืบหน้าตามเป้าหมายค่อนข้างมาก และการมองหาตลาดต่างประเทศก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดโอกาสทางธุรกิจได้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนในระยะต่อไป คาดว่า กลุ่มพลังงานขยะ เป็นกลุ่มที่น่าจับตาว่าจะมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังการผลิตในปัจจุบันยังอยู่ห่างไกลเป้าหมายที่วางไว้ ประกอบกับปัญหาขยะล้นเมืองที่ภาครัฐต้องการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องรีบแก้ไข เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากตัวโครงการพลังงานขยะที่ได้รับการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement-PPA) ในช่วงปี 2559-2561 คิดเป็นมูลค่าลงทุนราว 17,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการเกี่ยวกับเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่เกี่ยวข้อง อาจจะได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้ตามไปด้วย อย่างไรก็ดี อุปสรรคอย่างหนึ่งของพลังงานขยะก็คือ ข้อจำกัดในการจัดหาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์จะต้องใช้ขยะที่มีศักยภาพถึง 100 ตัน/วัน ซึ่งแหล่งขยะในประเทศไทยที่มีปริมาณมากขนาดนั้นมีอยู่ไม่มากนักและคุณภาพของการคัดแยกขยะยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับการเลือกเทคโนโลยีที่จะใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เพราะหากเลือกใช้ไม่เหมาะสม ก็อาจส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะมลพิษในอากาศ และท้ายที่สุดจะต้องได้รับความเห็นชอบในด้านสิ่งแวดล้อมจากภาคประชาชนร่วมด้วย จึงจะสามารถทำการเสนอขายไฟฟ้าให้กับกฟผ.ได้

อีกหนึ่งกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับความสนใจในการลงทุนระยะต่อไป ก็คือ พลังงานลมเนื่องจากปัจจุบันยังมีผู้สนใจลงทุนน้อย แม้ว่าไทยจะมีศักยภาพในการผลิต แต่ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนั้น นอกจากจะต้องมีเงินลงทุนเบื้องต้นที่สูงเพียงพอแล้ว การหาทำเลศักยภาพที่มีปริมาณลมมากพอ (ซึ่งมีเพียงบางจังหวัดในประเทศเท่านั้น ที่มีกำลังลมและค่าความร้อนที่เหมาะสมในการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพ ส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคใต้ของไทย) หรือการหาเทคโนโลยีและอุปกรณ์พลังงานที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต อาจจะมีต้นทุนส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามาด้วย

ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายทางธุรกิจของผู้ประกอบการ รวมถึงภาครัฐที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนต่อการลงทุนที่จะได้รับในอัตราที่สูงเพียงพอที่จะลงทุนในพลังงานทดแทนกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น ผ่านกลไกการส่งเสริมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ราคารับซื้อในอัตราที่จูงใจ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การให้สิทธิพิเศษทางภาษีหรือความร่วมมือจากองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนทางธุรกิจที่จะได้รับจากการลงทุนในกลุ่มพลังงานเหล่านี้ จะพบว่า นอกจากรายได้ทางตรงที่จะได้รับจากการขายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้แก่การไฟฟ้าฯ แล้ว ยังสามารถมีรายได้ทางอ้อมจากการขายคาร์บอนเครดิต ผ่านกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ได้อีกด้วย ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายและประเด็นที่น่าจับตาสำหรับธุรกิจพลังงานทดแทนในระยะข้างหน้า คือ การอุดหนุนจากภาครัฐในรูปแบบ FIT อาจมีแนวโน้มค่อยๆ ลดลง จุดนี้น่าจะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะต้องหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิต ด้วยการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตหรือ Plant Factor ให้ได้กระแสไฟฟ้ามากขึ้นกว่าเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการในธุรกิจจะต้องมีการบริหารจัดการฝั่งของต้นทุนที่ดีเพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นควบคู่กันไป เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐที่จะอาจจะปรับลดลงในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ