(เพิ่มเติม) "สมคิด"ดัน"Infrastructure Fund"เข้าครม.ใน 2 สัปดาห์,มั่นใจจีดีพี Q2/59 โตกว่า 3%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 7, 2016 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ คาดว่า ภายในอีก 2 สัปดาห์จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) กองแรกขนาดการลงทุนระดับแสนล้านบาทขึ้นไป และเป็นการลงทุนในรูปแบบของรัฐและเอกชน (PPP)

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อ "โอกาสและความร่วมมือของภูมิภาคเอเชียยุคใหม่-ประเทศไทยศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ในเอเชีย" ให้กับนักธุรกิจญี่ปุ่นในงาน "Bangkok Nikkei Forum 2016" โดยระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งในด้านเศรษฐกิจจะเน้นใน 3 ด้าน คือ 1.การลดความเหลื่อมล้ำเน้นการปฏิรูปด้านการเกษตรและเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตรซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่

2. การปฏิรูปในเชิงการแข่งขันของประเทศโดย เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งภายในปี 59-60 จะมีโครงการใหม่ๆเกิดขึ้นทั้งทางถนน รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีเม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานถึง 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ 3. การปรับโครงสร้างการผลิต ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้สิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการที่มีการส่งเสริมนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และเพิ่มเทคโนโลยี ทั้งด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ หุ่นยนต์การบิน และโลจิสติกส์ พร้อมทั้งให้การส่งเสริมการสร้างธุรกิจใหม่ใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ทอัพ

นอกจากนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญในด้านการพัฒนาเรื่องของดิจิตอล โดยมีเม็ดเงินลงทุนในปีนี้ 15,000 ล้านบาท และไทยต้องการจะเป็นศูนย์กลางด้านดิจิตอลในภูมิภาคอาเซียน และเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ รวมถึงการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการบินและมีการเพิ่มสนามบินเชิงพาณิชย์ที่อู่ตะเภา เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น พร้อมกันนี้ ยังมีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงตลาดหุ้นของไทยกับกลุ่มอาเซียน ในลักษณะที่มีการจดทะเบียนในต่างประเทศ แต่สามารถซื้อขายผ่านตลาดหุ้นไทยได้

นายสมคิด ได้ให้ความเชื่อมั่นกับนักธุรกิจญี่ปุ่นว่า ไทยจะพยายามดูแลเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเข้มแข็ง โดยในระยะสั้นนี้จะดูแลให้เศรษฐกิจไทยไม่ทรุดตัวไปตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งขณะนี้ก็ถือว่าดูแลได้ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งล่าสุดได้รับการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว ซึ่งเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/59 จะเติบโตได้มากกว่า 3% โดยถือว่ารัฐบาลทำดีที่สุดแล้ว และผลที่ออกมาก็น่าจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นได้มากขึ้น

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มองว่าปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3, ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 เดือน ขณะที่ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยประมาณ 30 ล้านคน ส่วนการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) คาดว่าทั้งปีนี้จะมีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 6-7 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ จากที่ได้หารือกับประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (เจโทร) ก็ได้รับทราบข้อมูลผลการสำรวจความเชื่อมั่นของนักธุรกิจญี่ปุ่นในไทย พบว่าปรับตัวสูงขึ้นจากรอบการสำรวจในครึ่งปีที่แล้ว และคาดว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าก็จะดีขึ้นไปอีกจากปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นกำลังกลับมา

นายสมคิด ยืนยันว่า รัฐบาลพยามยามดูแลและแก้ไขในทุกปัญหาอย่างเต็มที่ เช่น ปัญหาเรื่องการทำประมง และกรณีค้ามนุษย์นั้น รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังจนนำไปสู่การได้รับการปรับให้ไทยขึ้นไปสู่ระดับ Tier2 จากก่อนหน้านี้ที่อยู่ระดับ Tier3

สำหรับความวิตกกังวลจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ทั้งจากสหรัฐอเมริกาและฝั่งยุโรปนั้น เป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้เศรษฐกิจในเอเชียเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมี 4 ประเทศหลักซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหัวรถจักรขนาดใหญ่ในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ซึ่งจากการที่ได้เดินทางไปทั้ง 4 ประเทศได้มองเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการปรับโครงสร้างการผลิตและส่งเสริมเรื่องของนวัตกรรม เทคโนโลยี และสร้างกลุ่มสตาร์ทอัพให้เป็นพลังขับเคลื่อนในเศรษฐกิจ

และจากการที่สหรัฐและยุโรปยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ จึงเป็นโอกาสให้นักธุรกิจหันมาสนใจในตลาดเอเชียมากยิ่งขึ้น และนอกเหนือจาก 4 ประเทศ คือ อาเซียน ฮ่องกงและไต้หวัน ถือเป็นหัวรถจักรที่สำคัญรองลงมา

นายสมคิด ยังให้ความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นว่า อาเซียนพร้อมเป็นแหล่งรองรับการผลิต และเป็นแหล่งรองรับการลงทุนทั้งจากในเอเชียและจากฝั่งยุโรปที่ต้องการจะย้ายการลงทุนเข้ามา เพราะตลาดอาเซียนยังเป็นตลาดแรงงานต้นทุนต่ำ และมีระดับชนชั้นกลางเป็นจำนวนมากที่สามารถรองรับตลาดใหม่ๆ ได้

ขณะที่กลุ่ม CLMVT จะเริ่มมีการประชุมในยุทธศาสตร์ร่วมกันในบางประเด็น เช่น ยุทธศาสตร์ด้าน Connectivity เป็นต้น เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้น และไปเชื่อมโยงกับความร่วมมือในกลุ่มอื่นๆ ให้มากขึ้นต่อไปในอนาคต

"ในฐานะประเทศไทย เราจะทำให้ประเทศไทยเป็นที่ที่ดีที่สุด มีศักยภาพสูงที่สุด เพื่อไม่ให้นักลงทุนมองข้ามโดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่น"นายสมคิด กล่าว

ด้านแรงงาน นายสมคิด เปิดเผยว่า ได้หารือกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ถึงแนวคิดการสร้างบุคลากรที่รองรับอุตสาหกรรมเฉพาะประเภทให้มีความเพียงพอ และพร้อมปรับปรุงกฏ ระเบียบ และลดขั้นตอนการทำธุรกิจให้มีความรวดเร็วมากขึ้น และทำให้การประมูลเป็นไปอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ ลดการทุจริต ซึ่งทุกสิ่งที่พยายามขับเคลื่อนออกมา เพื่อให้นักธุรกิจเกิดความสบายใจว่าจะต้องไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์เกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ