สศก. เผยเกษตรกรบางส่วนยอมปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้ง แต่ส่วนใหญ่ยังคงปลูกแบบเดิม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 1, 2016 11:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ประเมินผลโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 พบว่า เกษตรกร ร้อยละ 77 ที่ได้รับผลกระทบ ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนการรับรู้รับทราบสถานการณ์ภัยแล้งและมาตรการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ เกษตรกร ร้อยละ 95 รับทราบสถานการณ์และมาตรการช่วยเหลือ โดยมาตรการที่ 4 โครงการตามความต้องการของชุมชน มาตรการที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และมาตรการที่ 7 การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัย เป็นมาตรการที่เกษตรกรรับรู้มากในลำดับต้น ๆ

ด้านการปรับตัว เกษตรกรร้อยละ 36 มีการปรับเปลี่ยนการผลิต โดยทำการเกษตรอื่นทดแทนหรือเสริมจากกิจกรรมที่ทำอยู่เดิม เพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหายของผลผลิตและเป็นการหารายได้เสริม เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว ผักคะน้า ต้นหอม การปลูกพืชถั่วเขียว ถั่งลิสง หรือทำอาชีพเสริมอื่น ๆ ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร

อย่างไรก็ตาม พบว่า ร้อยละ 64 ที่ไม่ปรับเปลี่ยน เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น พื้นที่ทำการเกษตรเป็นที่เช่าจำเป็นต้องทำกิจกรรมเดิม ยังไม่คุ้นเคยกับการทำการผลิตอย่างอื่น ไม่อยากเสี่ยงปลูกพืชอื่นในภาวะที่มีความแห้งแล้งมาก รวมทั้งยังไม่แน่ใจในเรื่องของตลาดรับซื้อผลผลิตว่าจะมีรองรับจริงหรือไม่ เป็นต้น

ขณะที่นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความพึงพอใจต่อการดำเนินงาน เกษตรกรมีความพึงพอใจระดับมาก ในมาตรการต่าง ๆ 3 อันดับแรก ได้แก่ มาตรการที่ 3 การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ มาตรการที่ 4 โครงการตามความต้องการของชุมชน และมาตรการที่ 7 การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัย ตามลำดับ

ทั้งนี้ ได้ข้อค้นพบและข้อเสนอแนะของการดำเนินงานโครงการว่า การบูรณาการจากหลากหลายหน่วยงาน และหลายกระทรวง ทำให้ความช่วยเหลือกระจายสู่ชุมชนต่าง ๆ ได้ในวงกว้างครอบคลุมทั่วประเทศ แต่อาจยังไม่กระจายทั่วถึงทุกกลุ่มในชุมชน บางโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการปลูกพืชใช้น้ำน้อย อาจไม่ได้รับผลผลิตตามที่คาดหวัง เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนมากในหลายพื้นที่ไม่เอื้อต่อการปลูกพืช

ดังนั้น ควรพิจารณาหรือประเมินความพร้อมของพื้นที่เป้าหมายด้วย ส่วนการแก้ปัญหาของเกษตรกรแบบเร่งด่วน ควรเน้นไปที่กิจกรรมการจ้างงานในชุมชน และในระยะยาวการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ควรผลักดันการดำเนินกิจกรรมในมาตรการที่ 5 และ 6 คือ การเพิ่มประสิทธิภาพใช้น้ำ และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนอย่างต่อเนื่องและขยายพื้นที่มากขึ้น ซึ่งการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในช่วงสิ้นสุดการดำเนินงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดไว้ในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการและจะรายงานให้ทรายในระยะต่อไป

สศก.ดำเนินงานโครงการ ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน -15 พฤษภาคม 2559 รวม 61 จังหวัด โดยสุ่มสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประธานศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) ผู้นำกลุ่มเกษตรกรที่เสนอโครงการชุมชน เกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการที่ 1 3 และ 4 และเกษตรกรทั่วไป รวมทั้งสิ้น 4,085 ราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ