กรมเจ้าท่าเดินหน้าโครงการท่าเรือปากบาราจัดประชาพิจารณ์ ส.ค.-ศึกษา EHIA

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 5, 2016 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา กรมเจ้าท่า อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนสำรวจออกแบบรายละเอียด และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายละเอียด (EHIA) โดยจะต้องทำประชาพิจารณาให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในท้องถิ่น เพื่อให้เห็นด้วยและสนับการก่อสร้างท่าเรือ ซึ่งนอกจากสร้างท่าเรือปากบาราแล้ว ยังจะมีแลนด์บริดจ์เชื่อมจากท่าเรือปากบาราไปท่าเรือสงขลา 2 ได้ ซึ่งแลนด์บริดจ์จะลดระยะทางในการขนส่งสินค้าต่าง ๆ สามารถขนส่งจากทะเลอันดามันผ่านอ่าวไทยและออกไปยังทะเลแปซิฟิกได้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและท้องถิ่นได้

ส่วนการก่อสร้างท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ขณะนี้ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาแล้วคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ และน่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณกลางปี 60

สำหรับการบริหารท่าเรือที่กรมเจ้าท่าก่อสร้างเสร็จแล้ว เป็นเรื่องจะต้องเร่งดำเนินการ โดยมีหลายท่าที่ยังไม่มีผู้บริหาร ซึ่งกระทรวงให้ความสำคัญ เนื่องจากตามระเบียบเมื่อก่อสร้างเสร็จต้องมอบให้กรมธนารักษ์ แต่กรมธนารักษ์มีกรอบเรื่องผลตอบแทนค่อนข้างสูง จึงไม่จูงใจเอกชนให้เข้ามาบริหารท่าเรือ ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้อธิบดีกรมเจ้าท่าหารือกับอธิบดีกรมธนารักษ์หาทางลดหย่อนกติกาต่าง ๆ เพื่อดึงเอกชนเข้ามาลงทุนมากขึ้น

อนึ่ง กรมเจ้าท่าสร้างท่าเรือหลายแห่ง เช่น ท่าเรือคลองใหญ่ จ.ตราด ใช้เงินลงทุนก่อสร้าง 1,295 ล้านบาท และยังมีท่าเรือขนาดใหญ่ เช่น ท่าเรือศาลาลอย จ.พระนครศรีอยุธยา ท่าเรือคลองใหญ่ จ.ตราด ท่าเรือประจวบคีรีขันธ์ ท่าเรือภูเก็ต ท่าเรือสงขลา และมีท่าเรือขนาดเล็กประมาณ 10-20 แห่ง

นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่ากล่าวว่า ภายในเดือน ส.ค.นี้จะมีการพูดคุยกับชาวบ้านเฉพาะกลุ่มเพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติม โดยกรมฯพร้อมตอบชี้แจงข้อสงสัยทุกเรื่อง ปัจจุบัน การคัดค้านในส่วนของการก่อสร้างท่าเรือลดน้อยลงแล้ว โดยชาวบ้านมีความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งล่าสุดชาวบ้านได้เสนอให้ปรับแบบก่อสร้างท่าเรือจากที่ใช้การถมทะเลเป็นการใช้เสาเข็มเป็นฐานรากของท่าเรือแทน ซึ่งในการศึกษา EHIA จะศึกษาเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ในประเด็นนี้ด้วย โดยเบื้องต้น การก่อสร้างฐานรากของท่าเทียบเรือเป็นเสาเข็ม ค่าก่อสร้างอาจจะเพิ่มขึ้น อีกทั้งไม่สามารถทำกำแพงกันคลื่นและลมได้ ทำให้ต้องประเมินเรื่องความปลอดภัยของท่าเทียบเรือ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ