นายกฯ นั่งหัวโต๊ะกนศ.ยกเลิกข้อสงวนความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียนใน 5 สาขา-กำหนดแนวทางยุทธศาสตร์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 22, 2016 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชุติมา บุญยประภัสร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือ กนศ. ครั้งแรก ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ยกเลิกข้อสงวนในความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียนในการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุน ซึ่งเป็นนิติบุคคลนอกภาคีอาเซียนที่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญในประเทศสมาชิกอาเซียน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เสนอ และให้นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้การยกเลิกรายการข้อสงวนดังกล่าวจะครอบคลุมการลงทุนเฉพาะนักลงทุนในอาเซียนสำหรับการประกอบธุรกิจ 5 สาขา ได้แก่ เกษตร ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ 5 สาขาดังกล่าว โดยไม่ครอบคลุมการลงทุนในธุรกิจของสาขาการค้าบริการ และต้องไม่ขัดกับกฎหมายภายในประเทศของไทยที่เกี่ยวข้อง

ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบในการจัดทำพิธีสารแก้ไขความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 2 (Second Protocol to Amend ACIA) โดยมอบหมายให้ รมว.พาณิชย์ ซึ่งต้องได้รับหนังสือมอบอำนาจของ รมว.ต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามพิธีสารดังกล่าวตามที่บีโอไอเสนอ และให้นำเรื่องเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการ/คณะทำงาน/คณะเจรจาต่างๆ ภายใต้ กนศ. ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการและคณะทำงาน 14 คณะ และคณะเจรจาย่อยอีก 4 คณะ รวม 18 คณะ และเห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการเจรจาการค้าของประเทศซึ่งมี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน และปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นรองประธาน โดยมีหน้าที่สำคัญในการกำกับดูแลและเสนอนโยบายสำหรับการเจรจาการค้าในกรอบเวทีต่างๆ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนศ.จะติดตามการดำเนินงานต่างๆ ตามมติที่ประชุมฯ อย่างต่อเนื่องทุกๆ 3 เดือน

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมรับทราบเรื่องระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 5) ซึ่งมาจากการแก้ไขระเบียบเดิมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับปัจจุบันมากขึ้น โดยมีการปรับอำนาจหน้าที่ของ กนศ.และองค์ประกอบของคณะกรรมการให้เกิดความเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งรับทราบเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ ที่ไทยเตรียมรับมือกับประเด็นท้าทายในความตกลงการค้าบริการและการลงทุนยุคใหม่ อาทิ การใช้ Negative List Approach ซึ่งเป็นการเจรจาที่แตกต่างจากในอดีต โดยจะเน้นเจรจาระบุรายการสินค้าและบริการที่แต่ละประเทศไม่เปิดเสรี รวมถึงประเด็นด้านสังคม ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชน และธรรมาภิบาล โดยจะต้องมีการกำหนดแนวทางต่อไป

ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ในระยะต่อไป ทั้งการเปิดประตูการค้าและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศ CLMV และการสร้างหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) โดยให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศทำงานร่วมกันมากขึ้น โดยเน้นการทำงานเชิงรุก (Proactive) และบูรณาการกันมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาเปิดการค้าเสรีในระดับภูมิภาคที่สำคัญ ทั้ง RCEP, TPP, EAEU (The Eurasian Economics Union) ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการ สร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย ทั้งผู้ที่เสียประโยชน์และได้ประโยชน์ ทุกฝ่ายต้องเตรียมความพร้อมก่อนเจรจา และนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้ได้ อย่าตระหนก และไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก นอกจากนี้จะต้องมีการกำหนดประเทศที่ไทยจะต้องการสร้าง (Strategic Partnership) โดยเฉพาะจีน เกาหลี และญี่ปุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ