กพท.เผยคสช.ใช้ม.44 ยืดอายุเกษียณบุคลากรด้านการบิน แก้ขาดแคลนระยะสั้นแล้ว-NOK แจงข้อมูลดีเลย์ดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 7, 2016 08:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุฬา สุขามานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ยืดอายุการเกษียณบุคลากรด้านการบินนั้น จะเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักบิน ,กลุ่มครูการบิน และกลุ่มควบคุมการจัดการจราจรทางอากาศ ซึ่งจะครอบคลุมเฉพาะในส่วนของรัฐวิสาหกิจที่กำหนดอายุการเกษียณอายุที่ 60 ปี ก็จะยืดเป็น 65 ปี เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.59 ถึงวันที่ 30 ก.ย.62 นับเป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อรักษาบุคลากรไว้ในช่วงวิกฤต

เนื่องจากปัจจุบันบุคลากรที่มีอายุ 60 ปียังมีสุขภาพแข็งแรง ประกอบกับกลุ่มบุคลากรทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวก็ขาดแคลนจำนวนมาก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเมื่อมีผู้เกษียณอายุ บุคลากรเหล่านี้ก็จะไหลออกไปอยู่กับภาคเอกชนหมด ดังนั้น การออกมาตรา 44 ที่ใช้ในกรณีของนักบิน ในสังกัดรัฐวิสาหกิจ อย่างสายการบินไทย สายการบินไทยสมายล์ ก็สามารถเก็บนักบินไว้ใช้งานได้ต่อไป

สำหรับบุคลากรที่ควบคุมการจรจาจรทางอากาศ ก็จะยืดอายุเกษียณเป็น 65 ปีด้วยเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันมีเพียงบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เพียงรายเดียวที่ดูแลในส่วนนี้ ซึ่งบุคลากรที่มีอยู่อายุมากก็จะมีประสบการณ์ที่ค่อนข้างสูงที่จะช่วยดูแลพนักงานรุ่นใหม่ได้ ส่วนกรณีผู้เชี่ยวชาญ สามารถจ้างเป็นสัญญาพิเศษไม่ได้เต็มเวลาโดยไม่ผูกพันกับกฎหมายรัฐวิสาหกิจ

เมื่อวานนี้ (6 ต.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 61/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาบุคลากรด้านการบิน โดยระบุว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินของไทยมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเพื่อรองรับการแข่งขันด้านการบินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศด้วย แต่เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนและยังประสบปัญหาในการผลิตบุคลากรด้านการบินไม่ทันต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการผลิตนักบิน พนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ และครูการบิน

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วน จำเป็นจะต้องจัดหาบุคลากรทดแทนที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ด้านการบิน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานของรัฐวิสาหกิจบางแห่งให้มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในภาพรวม

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในคำสั่งนี้ “พนักงาน" หมายความว่า พนักงานตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐาน สำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ

ข้อ 2 นอกจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้สำหรับพนักงานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด สถาบันการบินพลเรือน และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด แล้ว พนักงานดังกล่าวยังต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เว้นแต่ มาตรา 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ให้พนักงานมีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์

พนักงานตามวรรคหนึ่ง ได้แก่

1) นักบิน สำหรับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด

2) ครูการบิน สำหรับสถาบันการบินพลเรือน

3) พนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ สำหรับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด

ข้อ 3 สัญญาจ้างพนักงานตามข้อ 2 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งกำหนด โดยอย่างน้อยต้องกำหนดหน้าที่ของพนักงาน และค่าตอบแทน หรือสิทธิประโยชน์ของพนักงานไว้ด้วย

สัญญาจ้างตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของพนักงานเป็นไปตามที่กำหนดไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ และกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐาน สำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกประการ

ข้อ 4 ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้

ข้อ 5 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

นายจุฬา กล่าวอีกว่า สำหรับการเรียกตัวแทนบมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) เข้ามาหารือเมื่อวานนี้ ถึงกรณีมีเที่ยวบินล่าช้าจำนวนมากในเดือนก.ย.ที่ผ่านมานั้น ทางสายการบินนกแอร์ได้นำข้อมูลสถิติมาชี้แจง โดยนับตั้งแต่เดือนม.ย.59 จนถึงล่าสุดเดือนก.ย.ที่มีผู้ร้องเรียนเที่ยวบินล่าช้าเข้ามามากนั้น พบว่ามีเที่ยวบินทั้งสิ้น 5,140 เที่ยวบิน โดยมีเที่ยวบินล่าช้าเกิน 15 นาที จำนวน 573 ครั้ง เมื่อเทียบแล้วร้อยละของอัตราเที่ยวบินที่ตรงเวลาอยู่ที่ 88%

นอกจากนี้จากข้อมูลในเดือนก.ย.ยังพบว่าดีกว่าเมื่อเทียบกับเดือนส.ค.และเดือนก.ค.ด้วย โดยสาเหตุที่เที่ยวบินล่าช้านั้นทางสายการบินนกแอร์ ชี้แจงว่าเป็นเรื่องสภาพอากาศเพราะเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของทุกปีก็จะพบว่ามีความล่าช้าของเที่ยวบินในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน


แท็ก ข้อมูล   จุฬา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ