ม.มหิดล-สวทน.จับมือเตรียมเปิดโครงการ Food Tech StartUp ครั้งแรกในไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 23, 2016 11:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติชัย ราชมหา ประธานสาขาการจัดการธุรกิจอาหาร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ภายในช่วงต้นปี 2560 นี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พร้อมด้วยสาขาการจัดการธุรกิจอาหาร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะพันธมิตรหลักด้านวิชาการ การบริหารจัดการธุรกิจอาหาร (food business management) เตรียมพร้อมจัดโครงการ Food Tech Startup เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพธุรกิจอาหาร นำเสนอไอเดียธุรกิจต่อนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาระบบนิเวศทางเศรษฐกิจของวงการธุรกิจอาหารและการเกษตรในประเทศไทยมีการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก มีกระแสสังคมในเรื่องการผลักดันให้ผู้ผลิตกลายเป็นผู้ประกอบการเองโดยไม่ผ่านมือพ่อค้าคนกลาง ประกอบกับแรงสนับสนุนจากการรวมกลุ่มของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ โครงการ "เมืองนวัตกรรมอาหาร" (Food Innopolis) ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่พร้อมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในด้านการประกอบธุรกิจด้านอาหารและการเกษตรอย่างครบวงจร ทำให้ในปัจจุบันถือเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจอาหาร ที่จะมีโอกาสในการประสบความสำเร็จด้านธุรกิจเพิ่มขึ้น

โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการสตาร์ทอัพไทยแลนด์ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านธุรกิจอาหาร และเตรียมความพร้อมนักสร้างสรรค์นวัตกรรมธุรกิจอาหารเพื่อแข่งขันในเวทีระดับโลก หรือ Global Food Innovation Contest ของทาง Global Entrepreneurial Network (GEN) ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหารของประเทศไทย เพิ่มศักยภาพด้านการสร้างมูลค่าอาหารด้วยนวัตกรรมให้กับประเทศ เพื่อความสำเร็จในการเป็นแหล่งอาหารของโลกอย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม เทรนด์ธุรกิจอาหารต้องอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเติบโตทั้งห่วงโซ่คุณค่า (value chain) โดยผู้ประกอบการธุรกิจอาหารยุคใหม่ต้องรู้จักประยุกต์ใช้นวัตกรรมเข้าสู่ธุรกิจ โดยเน้นหลักที่การพัฒนา 3 หัวใจสำคัญของธุรกิจอาหารในยุคปัจจุบัน คือ

1) เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (Productivity) นวัตกรรมสามารถใช้เพื่อพัฒนาภาคการผลิต โดยเฉพาะในธุรกิจต้นน้ำ เช่น ผลิตผลทางการเกษตรและปศุสัตว์ ให้มีปริมาณมากขึ้น รองรับกับการเติบโตของจำนวนผู้บริโภคทั่วโลก ตลอดจนลดอัตราการสูญเสียจากปัจจัยต่างๆ เช่น ปัญหาทางสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change)

2) พัฒนาด้านความปลอดภัย (Safety) ประเด็นด้านความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดในธุรกิจอาหาร ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยพัฒนาและควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยในทุกกระบวนการผลิตอาหาร

3) ผลิตอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ (Healthy & Wellness) อาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy & Functional Food) เป็นเทรนด์ระดับโลกที่ผู้บริโภคทุกประเทศให้ความสนใจเป็นอันดับ 1 โดยในปัจจุบันหัวใจหลักที่ใช้เป็นตัวตัดสินในตลาดธุรกิจอาหาร คือ การคิดค้นและพัฒนาอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอาหารสุขภาพเพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัย (Aging Society)

ด้านนายอัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รองเลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า โครงการ “เมืองนวัตกรรมอาหาร" หรือ Food Innopolis เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนา 2 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง 35 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจอาหารทุกระดับให้ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ผ่านการบริการให้คำปรึกษาด้านต่างๆ อาทิ การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อการพัฒนาด้านศึกษาวิจัย (Networking for Research and Development) และการต่อยอดธุรกิจเพื่อตีตลาดต่างประเทศ (Business Accelerator)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ