นักวิชาการ มองโอกาสไทยขึ้นดอกเบี้ยปลายปี 60 หวั่นกระทบหนัก 5 อุตฯเป้าหมาย แนะรัฐใช้มาตรการหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2017 12:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรวุฒิ ศรีพินิจ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงเผชิญความเสี่ยงด้านต่างประเทศ เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ, แนวนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่, ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และการเมืองในยุโรป ซึ่งอาจส่งผลให้ไทยมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้นในช่วงปลายปี 60 เพื่อปรับสมดุลและรับมือกับภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายตามความผันผวนของเศรษฐกิจโลก หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันไว้ที่ระดับ 1.50% ต่อปีมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากประเทศไทยมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้น เท่ากับว่าต้นทุนทางการเงิน และต้นทุนในการประกอบการอื่นๆ ของภาคเศรษฐกิจจะสูงขึ้นด้วย โดยแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ซึ่งผลจากงานวิจัย "ผลของนโยบายการเงินต่อระบบเศรษฐกิจ : ฝนตกไม่ทั่วฟ้า" ที่ได้ศึกษาผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออัตราผลตอบแทนในภาคเศรษฐกิจมาเป็นระยะเวลา 24 เดือน พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, โลจิสติกส์, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, ยานยนต์สมัยใหม่ รวมไปถึงการก่อสร้าง เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากการขึ้นดอกเบี้ย โดยมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนติดลบเฉลี่ย 1.098% เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่เป็นฐานการผลิตของประเทศ

ขณะเดียวกันกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมกระดาษและสิ่งพิมพ์, การท่องเที่ยวและการพักผ่อน, การบริการทางการแพทย์ กลุ่มยา และพาณิชยกรรม มีอัตราผลตอบแทนการลงทุนติดลบเฉลี่ยเพียง 0.339% เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจน้อย อันสะท้อนให้เห็นว่าการใช้เครื่องมือดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสร้างสมดุลในระบบเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"ดังนั้น ภาครัฐจึงควรดำเนินมาตรการการเงินอื่นๆ ควบคู่ไปกับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่น การส่งเสริมการลงทุนผ่านการให้สินเชื่อพิเศษ การลดค่าธรรมเนียมการโอนเงิน-ชำระเงิน ฯลฯ เพื่อเป็นการเหยียบคันเร่ง ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของประเทศตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0" นายธีรวุฒิ กล่าว

พร้อมระบุว่า นอกจากผลกระทบในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังส่งผลกระทบในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยแตกต่างกันไป อันเนื่องมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค โดยผลงานวิจัยระบุว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมีประสิทธิภาพในการควบคุมระดับเงินเฟ้อสูงที่สุดในภาคกลาง แต่มีผลอย่างอ่อนๆ ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก และไม่มีประสิทธิภาพสำหรับภาคตะวันตก และภาคใต้

เพราะฉะนั้น นอกจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เกิดความสมดุลของเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศแล้ว ภาครัฐควรศึกษาและดำเนินมาตรการการเงินที่สอดคล้องกับกิจกรรม และภาวะทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคไปพร้อมกัน เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในภาพย่อย อันจะสะท้อนกลับมาเป็นเศรษฐกิจในภาพใหญ่ที่ยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ