(เพิ่มเติม) BOI เผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 59 สูงเกินเป้าหมายทั้งมูลค่าและจำนวนโครงการ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 25, 2017 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนในปี 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ว่า ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2559 สูงเกินเป้าหมาย ทั้งในแง่ของมูลค่าและจำนวนโครงการ โดยพบว่ามีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 584,350 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ 550,000 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าการลงทุนในปี 59 สูงกว่าในปี 58 ถึง 196% ที่มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 197,740 ล้านบาท ขณะที่จำนวนโครงการอยู่ที่ 1,546 โครงการ เพิ่มขึ้น 56% จากปี 58 ที่มีจำนวน 988 โครงการ

ขณะที่ในปี 2560 นี้ แนวโน้มการลงทุนยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดเป้าหมายการขอรับการส่งเสริมการลงทุนไว้ที่ 6 แสนล้านบาท โดยปัจจัยบวกที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการลงทุนของภาคเอกชน ได้แก่ 1.การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 2.โอกาสการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางในการส่งเสริมการลงทุน 3.การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง เช่น อากาศยานและชิ้นส่วน เครื่องมือแพทย์ และยา 4.การลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 5.โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 6.เครื่องมือใหม่ตามร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนและ ร่างพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ทั้งนี้ โครงการ EEC และ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในกลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านการวิจัยพัฒนา นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีขั้นสูงที่ไม่เคยมีการลงทุนในไทยมาก่อนให้เข้ามาลงทุน

ด้านนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า การขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 584,350 ล้านบาท นอกจากจะสะท้อนถึงความมั่นใจของนักลงทุนแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการเข้ามาลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมขั้นสูงที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะ 51% เป็นการขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกลุ่มที่มีมูลค่าขอรับส่งเสริมมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่าเงินลงทุน 88,511 ล้านบาท รองลงมา คือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าเงินลงทุน 64,918 ล้านบาทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ มูลค่าเงินลงทุน 46,986 ล้านบาท อุตสาหกรรมการเกษตร มูลค่าเงินลงทุน 45,892 ล้านบาท อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 21,398 ล้านบาท อุตสาหกรรมการแพทย์ 7,800 ล้านบาท และอุตสาหกรรมดิจิทัล 5,173 ล้านบาท

โดยตัวอย่างกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กิจการผลิตระบบหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงอิเล็กทรอนิกส์ กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น สารเคมีสำหรับใช้ทำปฏิกิริยาเพื่อพองถุงลมนิรภัย เข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย ชิ้นส่วนพวงมาลัย ชิ้นส่วนระบบเบรก ชิ้นส่วนช่วงล่างรถยนต์

กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ หรือเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ กิจการผลิตพลาสติกรีไซเคิล กิจการผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตร รวมทั้งเศษวัสดุหรือของเสีย กิจการคัดคุณภาพข้าว กิจการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ กิจการการผลิตเมล็ดพันธุ์หรือการปรับปรุงพันธุ์พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ

กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ กิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้าอัจฉริยะ กิจการผลิตชิ้นส่วน Hard Disk Drive กิจการผลิตคอนแทคเลนส์ กิจการผลิตเลนส์แก้วตาเทียมกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากเลือด ชิ้นส่วนเครื่องอัลตราซาวด์ และกิจการผลิตรากฟันเทียม

"ปีที่ผ่านมา บีโอไอได้พิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแก่โครงการต่างๆ รวมจำนวน 1,688 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 861,340 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมก่อนปี 2559 และโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมในปี 2559 และคาดว่า โครงการกลุ่มนี้จะสามารถลงทุนและเปิดดำเนินการได้ภายใน 1-2 ปีนับจากนี้ ซึ่งหากเปิดดำเนินการครบ จะก่อให้เกิดการสร้างงานคนไทยถึง 139,000 ตำแหน่ง เกิดการใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศไทย 697,000 ล้านบาทต่อปี และสร้างรายได้จากการส่งออกถึง 877,000 ล้านบาท" เลขาธิการบีโอไอกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ