(เพิ่มเติม) "ซิตี้แบงก์" คาด GDP ปี 60 ขยายตัว 3.3% จากเม็ดเงินลงทุนภาครัฐหนุน,เงินเฟ้อ 2.2% มองบาทอ่อนในช่วง 36-37 บาท/ดอลลาร์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 9, 2017 13:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้อำนวยการบริหารอาวุโส ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ระบุว่านักวิเคราะห์ของซิตี้แบงก์ประเมินว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 60 จะเติบโตในระดับ 3.3% ดีขึ้นจากในปี 59 ที่เติบโตได้ 3% โดยมองว่าปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ การลงทุนภาครัฐ และการบริโภคของประชาชนที่น่าจะดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค คือ นโยบายของรัฐบาลใหม่สหรัฐ ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐว่าจะมีผลกระทบต่อการค้าของโลกมากน้อยเพียงใด

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.2% พร้อมกันนี้เชื่อว่าจนถึงสิ้นปีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับ 1.50% แต่อย่างไรก็ดี หากกนง.มีความจำเป็นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็เชื่อว่ายังพอจะมี room ให้สามารถทำได้ ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าตลอดทั้งปีจะอยู่ในช่วง 36-37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เตรียมจะพบปะกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในวันศุกร์นี้นั้น ทางซิตี้แบงก์มองว่าการพบปะของผู้นำโลกดังกล่าวคงไม่ได้มีสัญญาณทางการเมืองใดๆ เป็นพิเศษ แต่เชื่อว่าจะเป็นในแง่ของความสัมพันธ์ในระดับผู้นำประเทศมากกว่า

"ท้ายสุดแล้วต้องติดตามต่อไปว่านโยบายที่แท้จริงของทรัมป์จะออกมาอย่างไร เพราะหลายครั้งยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง นโยบายต่างๆ ที่ออกมาสามารถสร้างความผันผวนได้ในระดับหนึ่ง" นายดอน กล่าว

พร้อมระบุว่า ทางซิตี้แบงก์มีมุมมองว่าดอลลาร์สหรัฐอาจมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และบาทอาจจะอ่อนลงเล็กน้อย แต่คงไม่ได้เห็นการไหลออกของเงินทุนอย่างรวดเร็วหรือรุนแรงจากตลาดหุ้นไทยแต่อย่างใด เพราะโดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยยังไม่มีปัจจัยลบที่น่ากังวล สถานะทางการเงินยังมีความแข็งแกร่ง ซึ่งเม็ดเงินที่ไหลออกนั้นคงเป็นการไหลออกตามโอกาสของการลงทุนที่ได้มีการเปรียบเทียบกับหลายๆ ภูมิภาคแล้ว

อย่างไรก็ดี เห็นว่าจากการเปลี่ยนแปลงของการเติบโตทางเศรษฐกิจและนโยบายที่แตกต่างกันทั่วโลกนั้น นักลงทุนควรใช้วิธีการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอเพื่อช่วยป้องกันผลกระทบจากการลงทุน

"ในการแนะนำการลงทุนต่อลูกค้านั้น เราเสนอให้มีการกระจายความเสี่ยงของพอร์ทโฟลิโอ เพราะปีนี้จะเป็นอีกปีที่มีความผันผวน โดยเฉพาะปัจจัยการเมืองที่จะเข้ามามีผลกระทบต่อการลงทุนมากขึ้น เราแนะนำให้ลูกค้ากระจายความเสี่ยงไปหลายๆ หลักทรัพย์ และหลายภูมิภาค" นายดอน กล่าว

ขณะที่นางฟลอเรนส์ แทน ผู้อำนวยการอาวุโสฝายที่ปรึกษา กลยุทธ์ และการสื่อสาร ธนาคารซิตี้แบงก์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเมินว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลกในปีนี้จะขยายตัวได้ 2.8% ดีขึ้นจากในปี 59 ที่ขยายตัวได้ 2.5% ซึ่งเป็นการขยายตัวในภาวะที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการคลังเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มตลาดที่พัฒนาแล้ว และนับเป็นครั้งแรที่ตลาดที่พัฒนาแล้วมีการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวนับตั้งแต่ปี 53

สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอาจเกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของนโยบายการคลัง ซึ่งจะเป็นการหยุดวงจรของการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินแบบพิเศษเช่นเดียวกันตลาดที่พัฒนาแล้วนำมาใช้หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากสหรัฐฯ ที่ทยอยประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปานกลางแล้ว คาดว่าธนาคารกลางของตลาดที่พัฒนาแล้วอื่นๆ น่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาอันใกล้นี้

สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่นั้น คาดว่า ในปี 60 นี้จะมีอัตราการเติบโตที่ระดับ 4.3% เพิ่มขึ้นจากปี 59 ที่เติบโตในระดับ 3.8% ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์สภาวะเงินฝืดเคืองของบราซิลและรัสเซีย ส่วนประเทศจีนมีความพยายามที่จะลดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจก่อนที่จะถึงการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงปลายปีนี้ โดยมองว่ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มีความเปราะบางต่อการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ และข้อจำกัดทางการค้าของสหรัฐที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้การที่อังกฤษลงมติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป และผลการเลือกตั้งของสหรัฐเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของกระแสต่อต้านแนวคิดทางการเมืองและสังคมแบบดั้งเดิม และการเพิ่มขึ้นของกระแสการต่อต้านโลกาภิวัฒน์ โดยการเลือกตั้งในยุโรปอาจเพิ่มความเสี่ยงทางการเมืองในปี 60

"ในภาวะที่เงินดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสแข็งค่าขึ้นนี้ ความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐที่ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีความผันผวนในระยะสั้นนี้ อาจกลายเป็นโอกาสการลงทุนของนักลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะสั้นในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา" นางฟลอเรนส์ แทน ระบุ

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจในปี 59 ที่ผ่านมา มีความสำคัญต่อการลงทุนของนักลงทุนเป็นอย่างมาก การที่ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้จะเพิ่มสูงขึ้น ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนควรเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มี duration สั้นลง และสำหรับการลงทุนในตราสารทุนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มพลังงาน และกลุ่มการเงินมีแนวโน้มจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ของซิตี้แบงก์ ยังได้ลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นยุโรปลง เนื่องจากมีภาวะความเสี่ยงทางการเมือง พร้อมเชื่อว่ายังมีโอกาสการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ