ก.พลังงานแจงต้นทุนผลิตไฟฟ้าจาก LNG สูงกว่าถ่านหิน แถมยังมีความเสี่ยงด้านพลังงานหลังพึ่งพาก๊าซฯมากเกินไป

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 9, 2017 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ยืนยันว่า ภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าเป็นของตัวเอง ไม่เช่นนั้นจะต้องพึ่งพาไฟฟ้าที่ส่งมาจากภาคกลางเป็นหลัก ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้ามาก และพื้นที่ที่สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ก็ควรใช้พื้นที่เดิมของโรงไฟฟ้ากระบี่ เนื่องจากเห็นว่ามีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แต่หากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ไม่ได้ ก็ต้องหาพื้นที่ใหม่ในการก่อสร้างต่อไป

ส่วนข้อเสนอให้ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ทดแทนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้นั้น นายทวารับ กล่าวว่า จะทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าถ่านหินถึง 6 พันล้านบาท เนื่องจากต้องนำเข้า LNG จากต่างประเทศซึ่งจะส่งผลให้ราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจาก LNG อยู่ที่ 3.46 บาท/หน่วย เมื่อเทียบกับต้นทุนจากถ่านหิน ที่อยู่ระดับ 2.47 บาท/หน่วย และยังทำให้ประเทศยังมีความเสี่ยงด้านพลังงาน เนื่องจาการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากเกินไปด้วย

ขณะที่ก๊าซฯจากอ่าวไทยและประเทศเมียนมามีแนวโน้มที่จะลดลง ซึ่งเป็นความเสี่ยงด้านพลังงานของประเทศในอนาคตอย่างมาก ดังนั้น จึงมาถึงจุดที่ต้องกระจายความเสี่ยงด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแทน

"การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไม่ได้ แล้วจะเปลี่ยนไปสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ LNG แทนนั้น ประเทศไทยก็จะกลับมาสู่ปัญหาจุดเดิมคือ ความไม่มั่นคงด้านพลังงาน เนื่องจากพึ่งพาก๊าซฯในการผลิตไฟฟ้ามากเกินไป ซึ่งปัจจุบันประเทศใช้ก๊าซฯผลิตไฟฟ้าถึง 64% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด และในภาคใต้นับว่าใช้ก๊าซฯผลิตไฟฟ้าสูงถึง 90% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด"นายทวารัฐ กล่าว

สำหรับข้อเสนอให้ใช้ปาล์มน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกด้วยนั้น เห็นว่าการใช้น้ำมันปาล์มมาผลิตไฟฟ้าควรเป็นมาตรการชั่วคราว เช่น กรณีวิกฤติไฟฟ้าจากการปิดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติ หรือ ในช่วงสถานการณ์ไฟฟ้าภาคใต้ขาดแคลนฉุกเฉิน เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์มสูงถึง 8.42 บาท/หน่วย เมื่อเทียบกับน้ำมันเตาที่ปัจจุบันโรงไฟฟ้ากระบี่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักอยู่ 3.78 บาท/หน่วย

ทั้งนี้ หากใช้น้ำมันปาล์มเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากระบี่เต็มกำลังการผลิตจะผลิตไฟฟ้าได้ 2,400 ล้านหน่วย/ปี แต่จะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นประมาณ 11,000 ล้านบาท/ปีเช่นกัน และปัจจุบันมีเพียงโรงไฟฟ้ากระบี่เท่านั้นที่ใช้น้ำมันเตาผสมกับน้ำมันปาล์มในการผลิตไฟฟ้าได้ แต่ยังไม่สามารถนำน้ำมันปาล์มเพียงอย่างเดียวเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเคยแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำโดยขอให้โรงไฟฟ้ากระบี่นำน้ำมันปาล์มมาผสมกับน้ำมันเตาเพื่อเดินเครื่องผลิตไฟฟ้ามาเมื่อปลายปี 58 ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นเพียงกลไกช่วยเหลือเกษตรกรในด้านราคาช่วงวิกฤติเท่านั้น

นอกจากนี้โรงไฟฟ้าชีวมวลภาคใต้ที่ใช้กะลาปาล์ม ใยปาล์ม และเศษไม้จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาผลิตไฟฟ้า ก็สามารถทำได้เพียง 20 เมกะวัตต์เท่านั้น ดังนั้น จึงไม่สามารถทดแทนโรงไฟฟ้าหลักของภาคใต้ได้

อนึ่ง เช้านี้หนังสือพิมพ์รายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงย้ำถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยเสนอให้รัฐบาลเลือกใช้แนวทางพัฒนาที่ยั่งยืน และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และโลกอนาคต โดยเห็นว่าโรงไฟฟ้าที่ อ.เทพา จ.สงขลา ควรใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตแทนถ่านหิน ส่วนที่จ.กระบี่ ให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ ปาล์มน้ำมัน เป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหินเช่นกัน ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่รัฐบาลเตรียมที่จะตัดสินว่าจะเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ ต่อไปอีกหรือไม่ หลังมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านเป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 17 ก.พ.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ