พาณิชย์แจงใช้ ม.44 ลุยจดสิทธิบัตรเป็นมาตรการชั่วคราว แก้ปัญหางานค้างสะสม ปัดเอื้อประโยชน์ใคร

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 10, 2017 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงถึงกรณีการนำมาตรา 44 มาใช้เพื่อแก้ปัญหาการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา ว่า ไม่ใช่การรับจดสิทธิบัตรแบบปล่อยผีงานที่คั่งค้างอยู่ แต่เป็นการนำผลการทำงานของสำนักงานสิทธิบัตรต่างประเทศ หรือ Work Sharing มาช่วยในการตรวจสอบสิทธิบัตร อีกทั้งเป็นเพียงมาตรการทางเลือกชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณคำขอรับสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ค้างสะสมมาเป็นเวลานาน ด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสิทธิบัตร ทั้งนี้ คำขอรับสิทธิบัตรนั้นจะได้รับการจดทะเบียนหรือไม่ ยังคงต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายไทยเช่นเดียวกับช่องทางปกติ

ด้านนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบสิทธิบัตรเป็นระบบที่คุ้มครองนวัตกรรมและการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสาขาวิทยาการของคำขอนั้น หรือสัญชาติของผู้ยื่นคำขอ ซึ่งกรมฯ ตระหนักดีว่าปัญหางานค้างสะสมเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุน และทำให้ไม่เกิดการพัฒนาการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ดังนั้นจึงได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น การปรับปรุงฐานข้อมูลเปิดให้ยื่นคำขอด้วยระบบ E-Filing ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อลดขั้นตอนการจดทะเบียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งได้รับการจัดสรรอัตรากำลังผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นอีก 74 คน ซึ่งจะเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการทำงานของกรมฯ ในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้

อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัญหาคำขอรับสิทธิบัตรค้างสะสมมีมานานและเป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนจึงจำเป็นต้องมีมาตรการเสริมประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อสะสางงานค้างสะสมที่เก่ามากแล้ว และในอนาคตงานที่เข้ามาใหม่จะได้สมดุลกับความสามารถในการทำงาน เพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ประเทศไทยจะก้าวหน้าด้วยนวัตกรรม โดยอาศัยอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 ในการใช้ผลการทำงานของสำนักงานสิทธิบัตรต่างประเทศ หรือ Work Sharing โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ขอที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรมานานเกินกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์อย่างเดียวกันนี้แล้วจากสำนักงานสิทธิบัตรต่างประเทศสามารถแจ้งความประสงค์ให้ตรวจสอบการประดิษฐ์แบบทางเลือกนี้ได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ และหากกรมฯ ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการประดิษฐ์อย่างเดียวกัน กรมฯ จะนำผลการทำงานของสำนักงานสิทธิบัตรต่างประเทศมาใช้แล้วตรวจสอบเพิ่มในของเงื่อนไขอื่นเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายไทย ซึ่งคาดว่าวิธีนี้กรมฯ จะมีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และสามารถรับจดทะเบียนคำขอรับสิทธิบัตรได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี

นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มช่องทางสำหรับร้องขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ใหม่ หรือ Re-Examination คำขอที่ได้รับจดทะเบียนผ่านมาตรการพิเศษนี้ โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกร่วมเป็น ผู้พิจารณาเพื่อให้เกิดความเป็นกลาง

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลว่าการใช้มาตรการนี้จะทำให้ราคายาแพงขึ้นจริงหรือไม่นั้น ขอเรียนว่า กลไกของกฎหมายสิทธิบัตรประสงค์จะให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวช่วงระยะเวลาหนึ่งแก่นักประดิษฐ์ เพื่อให้สามารถได้รับประโยชน์จากผลงานของตน แต่การใช้สิทธินั้นต้องไม่นำไปสู่ความไม่เป็นธรรมทางการค้าหรือเอาเปรียบผู้บริโภค โดยกำหนดราคาอย่างไม่สมเหตุสมผล ซึ่งกลไกการควบคุมราคานั้นมีอยู่แล้วและอยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน เช่น กลไกการต่อรองราคายาและการกำหนดราคากลางของยาของกระทรวงสาธารณสุข หรือกลไกการควบคุมราคาสินค้าและบริการโดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการของกรมการค้าภายใน เป็นต้น

"มาตรการนี้จะใช้บังคับเป็นการชั่วคราวเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และไม่ได้มีเจตนาออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ชาติใด หรือฝ่ายใดเป็นพิเศษ เนื่องจากการพิจารณารับจดทะเบียนของกรมฯ เป็นการพิจารณาที่เป็นไปตามหลักวิชาการที่เป็นสากล โดยไม่อาจเลือกปฏิบัติว่าจะเป็นผู้ขอรับสิทธิบัตรจากประเทศไหน และหากกรมฯ สามารถขจัดปัญหาคำขอเก่าๆ ที่ยื่นมาเป็นเวลานานเหล่านี้ออกไปจากระบบได้คำขอรับสิทธิบัตรของคนไทยที่ยื่นเข้ามามากขึ้นในช่วงปีหลังๆ ก็มีโอกาสได้รับจดทะเบียนเร็วขึ้นเช่นกัน" นายทศพล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ