SCB EIC จับตาการแข่งขันรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางทวีความเข้มข้นขึ้น หลังแก้ไขสัญญา TOR ใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 31, 2017 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า การแข่งขันเพื่อรับงานรถไฟทางคู่ในอนาคตจะทวีความเข้มข้นขึ้น หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการแก้ไขสัญญาTOR และสั่งการดำเนินการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ภายใน 3 เดือน ประกอบด้วย นครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบฯ, ประจวบฯ-ชุมพร, มาบกะเบา-จิระ, และลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทางทั้งหมดราว 670 กิโลเมตร มูลค่ารวม 97,783 ล้านบาท ซึ่งจากเดิมแบ่งเป็นเส้นทางละสัญญา โดยมีมูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป เปลี่ยนเป็นสัญญาย่อยทั้งหมด 13 สัญญา ทำให้แต่ละสัญญามีมูลค่าลดลงอยู่ที่ 5,000-10,000 ล้านบาทต่อสัญญา ประกอบด้วย งานโยธาและราง 9 สัญญา งานก่อสร้างอุโมงค์ 1 สัญญา และงานระบบอาณัติสัญญาณ 3 สัญญา รวมถึงลดข้อกำหนดด้านประสบการณ์ของผู้รับเหมาจากเดิม 15% เป็น 10% ของมูลค่าโครงการ และยกเลิกข้อกำหนดที่เอกชนต้องส่งมอบเครื่องมือเครื่องจักรคืนแก่ รฟท.

สัญญา TOR ใหม่จะเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาขนาดกลางเข้ามาแข่งขันมากขึ้น ด้วยมูลค่างานโยธาและงานรางที่สูงถึงราว 85,000 ล้านบาท หรือราว 85% ของมูลค่างานรวม ซึ่งจูงใจให้ผู้รับเหมาสนใจประมูลงานจำนวนมาก แต่ด้วยข้อจำกัดด้านประสบการณ์และลักษณะสัญญาเดิมที่ผู้รับเหมาต้องรับงานทั้งหมดคืองานโยธา งานรางและอาณัติสัญญาณ ทำให้ผู้รับเหมาบางรายอาจพลาดโอกาสไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปรับ TOR ใหม่จึงเปิดโอกาสแก่ผู้รับเหมามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดข้อกำหนดด้านประสบการณ์และมูลค่างานที่ลดลง รวมถึงการแบ่งสัญญางานโยธาและงานอาณัติสัญญาณออกจากกันส่งผลให้ผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 8 ราย เป็นกว่า 20 ราย

SCB EIC กล่าวว่า การแก้ไขสัญญา TOR ใหม่ส่งผลกระทบต่อการรับรู้รายได้ของผู้ประกอบการระบบอาณัติสัญญาณในปี 60 เนื่องจากการแยกระบบอาณัติสัญญาณออกจากงานโยธาและงานรางส่งผลให้การติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณจะเริ่มหลังจากงานโยธาและงานรางแล้วเสร็จ ดังนั้น ผู้ประกอบการระบบอาณัติสัญญาณจึงเริ่มงานช้ากว่าเดิม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ