เกษตรฯ จับมือ WWF ส่งเสริมบริโภค-ผลิตอย่างยั่งยืนในภาคการเกษตรและป่าไม้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 28, 2017 10:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รังษิต ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมมือกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund Thailand (WWF Thailand)) ดำเนินโครงการส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืนในภาคการเกษตรและป่าไม้ (Sustainable Consumption and Production in the Agricultural and Forestry Sectors: WWF-SCP) ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจาก International Climate Initiative (IKI) ของกระทรวงเพื่อสิ่งแวดล้อมการอนุรักษ์ธรรมชาติ ความปลอดภัยด้านการก่อสร้างและนิวเคลียร์ แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (BMUB) เพื่อสนับสนุนภาครัฐในการทำแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องส่งเสริมภาคธุรกิจ รวมถึงเกษตรกรในการผลิต และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริโภคในแนวทางการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 3 ปี (พ.ศ.2560-2562) ซึ่ง สศก. จะทำหน้าที่สนับสนุนด้านข้อมูลและวิชาการในการดำเนินโครงการแก่ WWF ต่อไป

โครงการดังกล่าวจะนำไปประยุกต์ใช้ในการกำหนดนโยบายของภาครัฐและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน รวมทั้งสนับสนุนเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคการเกษตรและป่าไม้ในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีส่วนในการสนับสนุนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาคเกษตร ปี 2560-2564 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการบรรเทาและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร ก่อให้เกิดการพัฒนาเกษตรแบบปล่อยคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ตลอดจนการทำเกษตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเกษตร เนื่องจากมีความสอดคล้องกับนโยบายของชาติและยังสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในด้านเกษตรด้วย ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันภาคเกษตรของไทยยังไม่ถูกบังคับตามพันธกรณีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ให้มีการลดก๊าซเรือนกระจกก็ตาม แต่มีความจำเป็นต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์จากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเกษตรด้วย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งหวังให้โครงการดังกล่าวเกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เกิดการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และมีการเตรียมการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปพร้อมกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ