พาณิยช์เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday May 14, 2017 18:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ถือได้ว่าเป็นระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศ เพราะประกอบด้วยประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งที่อยู่ในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร เป็นที่มาของแรงงานในการผลิตสินค้าของประเทศ และถือเป็นกลุ่มกำลังซื้อส่วนใหญ่ของประเทศอีกด้วย ซึ่งถ้าพี่น้องประชาชนในกลุ่มนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ก็จะส่งผลถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

โดยในปี 2560 นี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าที่จะผลักดัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นกลไกสำคัญในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น โดยได้นำกลไกของ "ตลาด" ในรูปแบบต่าง ๆ มาเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อน โดยมีการผลักดันการจัดตั้งตลาดต่าง ๆ อาทิ

1.ตลาดกลาง-ตลาดประชารัฐเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค เพื่อเป็นจุดรวบรวมและจำหน่าย ตลอดจนเชื่อมโยงสินค้าเกษตรและสินค้าของผู้ประกอบการในท้องถิ่นสู่ภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีเป้าหมาย รวม 100 แห่ง ใน 77 จังหวัด

2.ตลาดกลางข้าวสารสู่มาตรฐานสากล เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายข้าวสารที่ทันสมัย เป็นที่รวบรวมและจำหน่ายข้าวสาร โดยมีบริการอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร สามารถเชื่อมโยงข้าวสารไปยังตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวสารของภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก

3.ตลาดต้องชม โดยจะส่งเสริมและพัฒนาให้ตลาดมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เป็นที่รู้จัก และพัฒนาให้เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว สอดรับกับความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาเปิดดำเนินการไปแล้ว 19 แห่ง อาทิ จังหวัดลำพูน มุกดาหาร สงขลา ชุมพร และอ่างทอง เป็นต้น และมีแผนจะเปิดตัวในเดือนพฤษภาคมนี้อีก 24 แห่ง อาทิ จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ยโสธร สมุทรปราการ พิษณุโลก อุบลราชธานี ตราด และสุโขทัย เป็นต้น

4.ตลาดเฉพาะสินค้าที่มีศักยภาพสูง หรือตลาดแม็กเนต (Magnet Market) โดยเน้นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งผลิตผลไม้ เบื้องต้นกำหนดไว้ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต จันทบุรี สงขลา ชลบุรี และอุดรธานี

นอกจากการสนับสนุนการจัดตั้งตลาดในรูปแบบต่างๆ แล้ว เพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจท้องถิ่น กระทรวงพาณิชย์ยังจะได้การจัดมหกรรม Local Economy 4.0 ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคมนี้ ณ ฮอลล์ 7-8 อิมแพค เมืองทองธานี โดยมีกิจกรรมสำคัญ อาทิ การจัดเสวนาและประชุมวิชาการ การจัดนิทรรศการและให้คำปรึกษา การเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และการออกร้านจำหน่ายสินค้าและผลงานของโครงการตลาดต่างๆ เป็นต้น

รมว.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการสนับสนุนนโยบาย Local Economy แล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนควบคู่ไปกับการกำกับดูแลราคาสินค้าเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยได้จัดกิจกรรมเพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น โครงการธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งจำหน่วยสินค้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาด 15-20% และงานมหกรรมธงฟ้าเพื่อจำหน่วยสินค้าอุปโภคบริโภคราคาต่ำกว่าท้องตลาด 20-40% ซึ่งการจัดกิจกรรมธงฟ้านี้มียอดจำหน่ายรวม 319 ล้านบาท สามารถลดภาระค่าครองชีพได้ประมาณ 128 ล้านบาท โดยมีผู้เข้าร่วมชมงานเกือบหนึ่งล้านคน ในส่วนของร้านอาหารหนูณิชย์ ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จราคาไม่เกิน 35 บาท/จานนั้น ได้เสียงตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี เนื่องจากราคาไม่แพงสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคได้เป็นอันมาก โดยในปัจจุบันมีร้านอาหารหนูณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการกับกระทรวงพาณิชย์ถึง 12,185 ราย

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเสริมให้มีร้านค้า "ฉลาดซื้อ ประหยัดใช้" หรือ โชห่วยมากขึ้น ในการจำหน่ายสินค้าคุณภาพดี ราคาถูก เพื่อให้ผู้บริโภคในทุกระดับมีทางเลือกเพิ่มขึ้น จากเดิมกว่า 83,470 ราย ใน 65 จังหวัด ในปี 2559 เป็นจำนวนกว่า 87,670 ราย ในทุกจังหวัดทั่วประเทศในปี 2560 รวมทั้งจัดทำโครงการค้าส่งค้าปลีกไทยสู่ชุมชน ปี 2560 เดินหน้าพัฒนาร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบ ปัจจุบันพัฒนาไปแล้ว 114 ร้าน ใน 65 จังหวัด จะขยายเพิ่มอีก 35 ร้าน ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดภายในปีนี้ เพื่อเข้ามาดูแลร้านค้าปลีกรายย่อยที่เป็นเครือข่ายของกระทรวง และได้พัฒนาให้มีร้านค้าปลีกรายย่อยในเครือข่ายแล้วกว่า 20,000 ราย สำหรับปี 2560 ตั้งเป้าที่จะพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก 5,454 ราย โดยให้ร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบ 60 ราย เป็นพี่เลี้ยง เน้นการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการร้านค้า การจัดเรียงสินค้า และการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้


แท็ก อภิรดี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ