กูรู เห็นพ้องเงินไหลเข้าทำบาทผันผวนระยะสั้น ระหว่างรอความชัดเจนนโยบายดอกเบี้ยเฟด ก่อนแข็งค่าในระยะต่อไป

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 2, 2017 12:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินและนักวิชาการเห็นพ้องค่าเงินบาทระยะสั้นมีความผันผวน โดยปัจจัยสำคัญยังคงต้องจับตาเงินทุนไหลเข้าลงทุนหรือเก็งกำไรในระหว่างที่รอความชัดเจนเรื่องระยะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่แนวโน้มระยะกลางและระยะยาวมีโอกาสแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐฯ

          หน่วยงาน                      กลางปี 60          สิ้นปี 60            ปี 61
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา                        34.50             34.25            34.00 (Q1)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                           34.00             34.50              -
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)            N/A               34-33             N/A
          น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มองแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะสั้นว่า ยังมีโอกาสผันผวน หลังจากที่เงินบาทในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ปรับตัวแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 2 ปี แต่ยังไม่หลุดแนวรับสำคัญที่ 34 บาท/ดอลลาร์ จึงทำให้มีแรงซื้อดอลลาร์คืน
          ขณะที่เงินบาทในสัปดาห์นี้เริ่มปรับอ่อนค่าลง หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่าพร้อมจะใช้มาตรการดูแลเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วนี้ โดยจะใช้เครื่องมือที่มีอยู่เพื่อลดแรงจูงใจที่นักลงทุนต่างชาติจะนำเงินเข้ามาลงทุนหรือเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งส่วนใหญ่คือพันธบัตรระยะสั้น
          "สัปดาห์ที่แล้วเรามองว่าบาทอาจจะแข็งค่าหลุดไปอยู่ 33.90 บาทได้ แต่พอผู้ว่าฯ ธปท.ออกมาพูดเมื่อต้นสัปดาห์นี้ sentiment เลยช่วยให้บาทอ่อนลงไปบ้าง โดยผู้ว่าฯ ธปท.บอกว่าห่วงเรื่องทุนไหลเข้าระยะสั้น และจะเข้ามาดูแล พอมีปัจจัยนี้ เรามองว่า 1 เดือนข้างหน้าบาทน่าจะอยู่ในทิศทางอ่อนค่าได้ หลังจากไม่หลุด 34 บาท/ดอลลาร์ลงไป เราให้ไว้ที่ 34.50 บาท/ดอลลาร์ในช่วงมิ.ย." น.ส.รุ่ง กล่าว
          ส่วนแนวโน้มเงินบาทในช่วงสิ้นปี 60 นั้น ยังขึ้นกับปัจจัยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นสำคัญ เพราะหากเฟดไม่ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงการประชุมที่เหลืออยู่ในครึ่งปีหลัง (ก.ย., ธ.ค.60) จะทำให้เกิดแรงขายดอลลาร์เพื่อทำกำไรได้ บาทจะกลับมาแข็งค่าอยู่ในช่วง 34 บาทต้นๆ แต่ในทางกลับกันหากเฟดส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย เงินบาทอาจจะไปอยู่แถวระดับ 34.50 บาท/ดอลลาร์ได้ ขณะที่ประเมินว่าเงินบาท ณ สิ้นปี 60 จะอยู่ที่ระดับ 34.25 บาท/ดอลลาร์
          "ช่วงที่เหลือของปี ถ้าเฟดไม่ส่งสัญญาณอะไรเลย ก็เป็นไปได้ว่าแนวโน้มเงินทุนจะไหลเข้ากลับมาในภูมิภาค ตลาดรอความชัดเจนในจุดนี้ เพราะนโยบายการคลังของสหรัฐฯ ก็ดูเหมือนจะสะดุด ความหวังที่ฝากไว้กับรัฐบาลทรัมป์ก็เจอปัญหาการเมือง และขาดความชัดเจนว่านโยบายใดบ้างที่จะทำได้จริงในปีนี้" น.ส.รุ่ง กล่าว
          ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ BAY กล่าวว่า การใช้มาตรการของ ธปท.ด้วยการทยอยปรับลดปริมาณการออกพันธบัตร ธปท.ระยะสั้น เพื่อหวังจะลดแรงจูงใจของนักลงทุนต่างชาติในการนำเงินเข้ามาลงทุนหรือเก็งกำไรระยะสั้นอันจะส่งผลกระทบให้เงินบาทผันผวนนั้น ส่งผลในทางจิตวิทยาอยู่บ้าง เพราะนักลงทุนเริ่มกังวลว่า ธปท.จะมีการออกมาตรการที่เข้มงวดขึ้นอีกหรือไม่
          แต่อย่างไรก็ดี ในส่วนของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติก็ยังคงเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งดูได้จากตลาดตราสารหนี้ของไทยที่พบว่านักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิเช่นเดิม เพียงแต่เปลี่ยนไปลงทุนในพันธบัตรที่มีระยะเวลานานขึ้น
          น.ส.รุ่ง มองว่า ปัจจัยสำคัญถึง 80% ที่มีผลต่อทิศทางค่าเงินบาท คือ นโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟด เพราะไม่เพียงแต่มีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทแล้ว ยังมีผลต่อทิศทางของค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ในตลาดโลกด้วย ส่วนปัจจัยที่เหลืออีก 20% ที่จะมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทนั้น คงมาจากการดำเนินนโยบายทางการเงินหรือมาตรการที่ ธปท.จะเลือกนำมาใช้ในการดูแลค่าเงิน
          ส่วนแนวโน้มเงินบาทในปี 61 น.ส.รุ่ง เชื่อว่าดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทและสกุลเงินหลักอื่นๆ เนื่องจากปีหน้าธนาคารกลางของหลายประเทศมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมกับการทยอยลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงในขณะที่เฟดได้เริ่มทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยไปตั้งแต่ปีนี้แล้ว ดังนั้น ภาวะดังกล่าวจึงทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า โดยมองว่าในไตรมาสแรกของปี 61 เงินบาทจะอยู่ในช่วง 34 บาทถ้วน ในขณะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงจะเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่กลางปีหน้าเป็นต้นไป และเชื่อว่า ณ สิ้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.50%
          "ปีหน้าดอลลาร์น่าจะอ่อนค่า และบาทจะแข็ง แนวโน้มดอกเบี้ยของไทยคงเป็นครึ่งปีหลัง เพราะ กนง.ไม่ต้องการให้บาทแข็ง และยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับการ support เศรษฐกิจ ประกอบกับเงินเฟ้อในไทยยังอยู่ระดับต่ำ ยังไม่เข้ากรอบเป้าหมายของกนง."น.ส.รุ่ง กล่าว
          น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยคาดเงินบาทในช่วงกลางปีนี้ไว้ที่ระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์ ส่วนช่วงครึ่งปีหลังให้มุมมองไว้ในทิศทางที่บาทยังอ่อนค่า จากสาเหตุที่เชื่อว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้ง รวมเป็น 3 ครั้งภายในปีนี้ ต่อจากเดือน มี.ค.และมิ.ย. ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ก็จะส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ รวมทั้งเงินบาท โดยธนาคารคาดว่าสิ้นปีนี้เงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 34.50 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการปรับปรุงคาดการณ์เงินบาทในช่วงสิ้นปีล่าสุด จากก่อนหน้านี้ที่มองไว้ที่ 35.70 บาท/ดอลลาร์
          อย่างไรก็ดี ภายในปีนี้เงินบาทคงไม่อ่อนค่าไปได้มากนัก เพราะตลาดเงินตลาดทุนในไทยยังถือว่าเป็นที่สนใจของต่างชาติจะนำเงินเข้ามาลงทุนหรือทำกำไรในช่วงสั้นๆ ระหว่างที่รอความชัดเจนเรื่องระยะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งการที่ยังมีเงินทุนไหลเข้าไทย ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทไม่สามารถอ่อนค่าไปได้มากนัก
          "ต่างชาติจะกระจายการลงทุนไปก่อน ในระหว่างที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไหน ตลาดในฝั่งเอเชียเป็นเป้าหมายของการลงทุน เขาก็จะกระจายเงินทุนมาที่ไทย ที่เกาหลี มี inflow เพราะเรายังเป็นตัวเลือกของนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้" น.ส.กาญจนา กล่าว
          นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่เงินบาทปีนี้จะไม่อ่อนค่าไปมากเกินกว่าระดับที่ธนาคารคาดไว้ เนื่องจากสหรัฐฯ ยังมีประเด็นปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เอง ซึ่งปัจจัยนี้จะเป็นตัวกดให้ดอลลาร์อ่อนค่า แม้ที่ผ่านมาการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะเป็นปัจจัยที่ช่วย support ให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นก็ตาม
          "ครึ่งปีหลังสหรัฐฯ ยังมีประเด็นการเมืองที่ต้องติดตาม ดังนั้นปัจจัยนี้จะเป็นการจำกัดกรอบการแข็งค่าของดอลลาร์กลายๆ แม้การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยจะเป็น support ของดอลลาร์ก็ตาม แต่ support นั้นจะถูกลดทอนลงไปจากประเด็นของทรัมป์" น.ส.กาญจนา กล่าว
          ส่วนมุมมองเรื่องอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น เชื่อว่าภายในปีนี้ยังไม่มีปัจจัยให้ กนง.ต้องตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปจากระดับปัจจุบันที่ 1.50% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ดังนั้นการรักษาดอกเบี้ยในระดับนี้ถือว่าเหมาะสมที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำยังไม่ได้สร้างแรงดันให้จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ ดังนั้นหาก กนง.จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็คาดว่าจะอยู่ในช่วงปี 2561
          นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนสำหรับนักบริหาร (MPPM Executive program) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองสถานการณ์ค่าเงินบาทในระยะสั้นจะมีความผันผวนตามปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่แนวโน้มระยะกลางและระยะยาวมีโอกาสแข็งค่าขึ้น เนื่องจากเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาในตลาดทุน (พันธบัตร) ตลาดหุ้น และการลงทุนจริง หลังนักลงทุนต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมืองและศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ เมื่อมีความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการจัดการเลือกตั้งตามโรดแมพที่รัฐบาลประกาศไว้
          "บาทเคยแข็งค่าลงไปอยู่ที่ 28-29 บาท/ดอลลาร์ และในอดีตเคยอ่อนค่าไปถึง 57 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งสะท้อนจากปัจจัยทางการเมืองในประเทศที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนจากต่างประเทศ" นายมนตรี กล่าว
          สถานการณ์ค่าเงินบาทในระยะสั้นจะมีความผันผวนไปตามปัจจัยที่เข้ามาในแต่ละช่วงเวลา การที่เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าในปัจจุบันเกิดจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ เนื่องจากปัญหาการเมืองของสหรัฐซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนในเชิงเปรียบเทียบ แต่ในระยะยาวคงต้องดูปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
          "เงินบาทแข็งค่าไปตามกลไกตลาด เราอยู่เฉยๆ แต่ดอลลาร์อ่อนค่า ถึงแม้แบงก์ชาติจะสามารถเข้าไปแทรกแซงค่าเงินได้ แต่คงจะไม่สามารถทำให้บาทแข็งค่าหรืออ่อนค่ามากเกินไป เพราะจะเกิดช่องว่างที่ทำให้มีการเก็งกำไร" นายมนตรี กล่าว
          ผู้อำนวยการหลักสูตร MPPM นิด้า กล่าวอีกว่า เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นในอนาคต โดยมีปัจจัยจากความชัดเจนทางการเมือง หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปลายปีนี้ตามโรดแมพของรัฐบาลก็มีโอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่าต่ำกว่า 34 บาท/ดอลลาร์ และแข็งค่าลงไปต่ำกว่า 33 บาท/ดอลลาร์ได้หากมีความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ ซึ่งจะเป็นแรงดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามา
          "ที่ผ่านมาแม้มียอดบีโอไอสูง แต่ไม่ได้มีการลงทุนจริง หลังจากนี้หากนักลงทุนมั่นใจก็จะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนมากขึ้น ซึ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าไปตามกลไกตลาด ความจริงน่าจะเป็นข่าวดีมากกว่า" นายมนตรี กล่าว
          ผู้อำนวยการหลักสูตร MPPM นิด้า กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินในขณะนี้มีความเปราะบาง เนื่องจากประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออกที่มีสัดส่วนมากถึง 72% ทำให้ต้องมีการดูแลค่าเงินอย่างระมัดระวังไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่ในทางตรงกันข้ามกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำผลิตสำหรับส่งออกมากกว่า 50% ขึ้นไปจะได้ประโยชน์เพราะต้นทุนถูกลง
          "ผู้ประกอบการคงต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ ทั้งการปรับปรุงคุณภาพสินค้า การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ใช่อาศัยความได้เปรียบจากเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียว" นายมนตรี กล่าว
          ผู้อำนวยการหลักสูตร MPPM นิด้า กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนในอนาคตของประเทศไทยมีมากขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า หลังรวมกลุ่ม AEC เนื่องจากมีศักยภาพในเรื่องทรัพยากรและตลาดที่มีประชาชนราว 650 ล้านคน ซึ่งจะเป็นปัจจัยดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในภูมิภาคนี้
          ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าในขณะนี้เป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากเกิดปัญหาการเมืองภายในสหรัฐ ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจเรื่องความคืบหน้าในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศไว้ ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายก็เชื่อว่าค่าเงินดอลลาร์จะกลับมาแข็งค่าตามเดิม
          "เงินบาทแข็งค่าช่วงสั้นๆ ตามสกุลเงินอื่นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่มีปัญหาการเมืองภายใน ทำให้นักลงทุนลังเลว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามที่ทรัมป์เคยประกาศไว้อาจชะลอออกไป แต่ถ้าสถานการณ์คลี่คลาย ค่าเงินดอลลาร์ก็คงกลับมาแข็งค่าตามเดิม เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐยังขยายตัว จะเห็นว่าช่วงที่สหรัฐมีปัญหาขัดแย้งกับเกาหลีเหนือก็ไม่ส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่า" นายกอบศักดิ์ กล่าว
          ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาเงินบาทแข็งค่าอาจส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าเกษตรบ้าง แต่ก็มีแนวทางแก้ไขด้วยการถือครองดอลลาร์ไว้ก่อนเพื่อรอจังหวะให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าในระดับที่พอใจ ส่วนผู้ส่งออกทั่วไปก็ต้องปรับตัว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกก็ควรอาศัยจังหวะนี้
          "ผู้ส่งออกคงต้องอดทนต้องจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อมีเวลาที่จะถือครองดอลลาร์ไว้ หรือหากเป็นผู้ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตก็อาศัยจังหวะนี้ เพราะไม่ได้เป็นการเก็งกำไร" นายกอบศักดิ์ กล่าว
          ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทิศทางเงินบาทไม่น่าจะแข็งค่าจนทำให้การแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกลดลง เพราะในขณะที่ดอลลาร์อ่อนค่าก็ทำให้เงินทุกสกุลกลับมาแข็งค่ามากบ้างน้อยบ้างเช่นเดียวกับเงินบาท และหากธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะส่งผลให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่า
          ในอนาคตอันใกล้นี้ รัฐบาลมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องอาศัยการนำเข้าเป็นมูลค่ามหาศาล ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ามากขึ้น ส่วนข้อกังวลว่าหลังจากโครงสร้างพื้นฐานเสร็จแล้วจะมีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่านั้นก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะกว่าจะถึงเวลานั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีมาตรการออกมารองรับได้ทัน
          "คงบอกไม่ได้ว่าค่าเงินบาทควรจะอยู่ที่ระดับไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมในขณะนั้น" นายกอบศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ