SCBEIC ห่วงผู้ส่งออกไทยรับผลกระทบจากบาทแข็งค่า ในช่วงที่สหรัฐยังไม่เริ่มลดขนาดงบดุล

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 15, 2017 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) ระบุว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติ 8 ต่อ 1 เสียงปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed funds rate) 25 basis points ซึ่งเป็นการขึ้นครั้งที่ 2 ในปีนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในช่วง 1.00 - 1.25% ทั้งนี้ คณะกรรมการของ FOMC ส่วนใหญ่ มองว่าควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อยู่ในช่วง 1.25 – 1.50% ณ สิ้นปี 2017

ที่ประชุม FOMC ยังเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมว่าจะเริ่มทยอยลดขนาดงบดุลในปีนี้ โดยเริ่มต้นจากการหยุดซื้อพันธบัตรเพื่อทดแทนพันธบัตรเดิมที่หมดอายุลง (reinvest) ทั้งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน (Mortgage-Backed Securities: MBS) รวม 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน และทยอยเพิ่มปริมาณการหยุด reinvest จนกระทั่งลดงบดุลทั้งสิ้น 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม Fed ยังไม่ได้กำหนดช่วงเวลาการเริ่มต้นลดงบดุลที่ชัดเจน

SCBEIC มองว่า แม้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในไตรมาส 1 ปี 2017 จะขยายตัวเพียง 1.2% ต่ำสุดในรอบ 1 ปี แต่ Fed เห็นว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาจากปัจจัยชั่วคราว ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศบ่งชี้การเติบโต ทั้งตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง จากอัตราการว่างงานที่ต่ำสุดในรอบ 16 ปีที่ 4.3% ณ เดือนพฤษภาคม ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ปัจจุบันแม้ว่าจะอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% แต่คาดว่าในระยะปานกลางจะกลับเข้าสู่อัตราเป้าหมาย ซึ่งปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ส่งผลให้ Fed ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ทั้งนี้ ตลาดได้รับรู้ความเป็นไปได้ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ส่งผลให้ตลาดการเงินไม่ตอบสนองรุนแรง โดย Fed มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ตาม Dot Plot และอาจเริ่มต้นลดงบดุลในไตรมาสสุดท้ายของปี Fed ส่งสัญญาณความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ทั้งการปรับขึ้นคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้มาอยู่ที่ 2.2% จาก 2.1% ที่ประกาศ ณ เดือนมีนาคม และประกาศแผนลดงบดุลเร็วกว่าคาด อีกทั้งอัตราการว่างงานในปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำมาก สะท้อนปัจจัยพื้นฐานการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ Fed จะเริ่มลดงบดุลในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจัยทางการเมืองจะไม่เป็นปัจจัยกำหนดนโยบายของ Fed แต่หากเหตุการณ์การเมืองรุนแรงและนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกดำเนินการตามขั้นตอนการถอดถอน จะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศลดลง และอาจทำให้ Fed ต้องชะลอการขึ้นดอกเบี้ย และเลื่อนการเริ่มต้นลดงบดุลออกไปอีก ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ CME Group ตลาดเห็นความเป็นไปได้ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้มีเพียง 44.8% และลดลงจาก 3 เดือนก่อนที่อยู่ที่ 52.8%

SCBEIC คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ต่อไปจนถึงปลายปี 2017 แม้ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเริ่มแผนลดขนาดงบดุล เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดย GDP ไตรมาส 1 เติบโตได้สูงที่ 3.3% เสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งและเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยบวก แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงต่ำที่ -0.04% ณ เดือนพฤษภาคม ซึ่งต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1-4% และการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้เหตุผลการคงดอกเบี้ยของ ธปท. ยังคงมีน้ำหนักในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ในระยะต่อไป

พร้อมมองว่า ในช่วงที่ Fed ยังไม่เริ่มลดขนาดงบดุล เงินบาทจะยังคงแข็งค่าต่อไป ซึ่งอาจกระทบต่อผู้ส่งออกไทย เนื่องจากค่าเงินบาทยังได้รับแรงกดดันจากเงินทุนไหลเข้าในตลาดพันธบัตร จากความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐฯ และความไม่คืบหน้าของแผนปฏิรูปภาษี ทำให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มอ่อนค่า ผู้ส่งออกจึงมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งค่าเงินอ่อนค่าเมื่อเทียบกับบาท

ในระยะถัดไป หาก Fed เริ่มต้นลดขนาดงบดุล ผู้ระดมเงินทุนมีความเสี่ยงต่อต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น เนื่องจากการลดขนาดงบดุลจะทำให้ปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในระบบเศรษฐกิจทยอยลดลง และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จะทำให้มีเงินทุนไหลกลับเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น

ในด้านตลาดการเงินไทย การลดงบดุลของ Fed จะส่งผลต่อเนื่องให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีปรับเพิ่มขึ้น และเงินบาททยอยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการระดมเงินทุนจากตลาดตราสารหนี้จำเป็นต้องพิจารณาความเสี่ยงจากต้นทุนการกู้ยืมที่อาจเพิ่มขึ้น และผู้นำเข้าควรป้องกันความเสี่ยงจากเงินบาทที่อ่อนค่าลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ