สศค.เผย 8 เดือนแรกปีงบ 60 รัฐนำส่งรายได้ 1.44 ล้านลบ. เบิกจ่าย 2.03 ล้านลบ. เงินคงคลังที่ 2.3 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 29, 2017 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.59 – พ.ค.60) ว่ารัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้นจำนวน 1,415,792 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 2,032,619 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 404,381 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 231,641 ล้านบาท

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลในช่วง 8 เดือนแรกได้กว่า 2.0 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 2.5%โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8.1% สะท้อนถึงบทบาทของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ และคาดว่าการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามที่คาดไว้

สำหรับรายละเอียดของฐานะการคลังตามระบบกระแสเงินสดในเดือน พ.ค.60 พบว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง จำนวน 198,926 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 41,615 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการนำส่งเงินส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตรในปีก่อน

รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 209,776 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 20,386 ล้านบาท (คิดเป็น 10.8%) โดยเป็นรายจ่ายปีปัจจุบันจำนวน 202,001 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 14.5% ประกอบด้วย รายจ่ายประจำจำนวน 171,187 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 22.6% และรายจ่ายลงทุน 30,814 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 16.5% และการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อนจำนวน 7,775 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 39.7%

การเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ งบรายจ่ายอื่นของกระทรวงกลาโหม จำนวน 35,120 ล้านบาท รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลังจำนวน 12,387 ล้านบาท และเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 12,110 ล้านบาท

ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด จากรายได้การนำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนพฤษภาคม 2560 ขาดดุลจำนวน 10,850 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 27,273 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากเงินฝากคลังของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐจำนวน 18,968 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังกู้ชดเชยการขาดดุล) เกินดุลเท่ากับจำนวน 60,523 ล้านบาท

ส่วนฐานะการคลังในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (เดือนตุลาคม 2559 – เดือนพฤษภาคม 2560) พบว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้นจำนวน 1,415,792 ล้านบาท ต่ำกว่าเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 52,346 ล้านบาท (คิดเป็น 3.6%) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากรายได้พิเศษจากการประมูลคลื่นความถี่ 3G และ 4G ในปีก่อน ทั้งนี้ หากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว รายได้นำส่งคลังปีนี้ยังสูงกว่าปีที่แล้วจำนวน 6,303 ล้านบาท

รายจ่ายรัฐบาล พบว่าการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้นจำนวน 2,032,619 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 48,727 ล้านบาท (คิดเป็น 2.5%) ประกอบด้วย รายจ่ายปีปัจจุบันจำนวน 1,864,909 ล้านบาท คิดเป็น 63.8% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย (2,923,000 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.6% และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อนจำนวน 167,710 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8.9%

รายจ่ายปีปัจุบันจำนวน 1,864,909 ล้านบาท ประกอบด้วย รายจ่ายประจำจำนวน 1,621,222 ล้านบาท (คิดเป็น 70.0% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำหลังโอนเปลี่ยนแปลงจำนวน 2,316,451 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.0% และรายจ่ายลงทุนจำนวน 243,687 ล้านบาท (คิดเป็น 40.2% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนหลังโอนเปลี่ยนแปลงจำนวน 606,549 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8.1%

ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ขาดดุลจำนวน 614,040 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณจำนวน 616,827 ล้านบาท ในขณะที่เงินนอกงบประมาณเกินดุลจำนวน 2,787 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงิน โดยการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 404,381 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล) ขาดดุลเท่ากับจำนวน 209,659 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 231,641 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ