กษ.เผย"บางระกำโมเดล"ช่วยเกษตรกรลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมก่อนถึงฤดูน้ำหลาก-รายได้และคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday August 5, 2017 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่าน เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำแบบประชาชนมีส่วนร่วม พื้นที่ทุ่งหน่วงน้ำบางระกำ หรือ “โครงการบางระกำโมเดล 60" ว่า ขณะนี้สามารถดำเนินงานได้ตามแผนที่วางไว้ และเป็นไปตามนโยบายของพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้กรมชลประทานปรับเปลี่ยนปฏิทินการส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกข้าวให้เร็วขึ้น ตั้งแต่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันเกษตรกรได้ทยอยเก็บเกี่ยวข้าวไปแล้วประมาณ 150,000 ไร่ เหลืออีกประมาณ 115,000 ไร่ จะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 นี้ ก่อนที่น้ำเหนือจะไหลบ่าลงมาประมาณปลายเดือนสิงหาคม-กันยายน 2560 นี้อย่างแน่นอน

สำหรับพื้นที่นาข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้ว ในช่วงที่ได้รับอิทธิพลจากพายุเซินกา กรมชลประทานได้เริ่มทำการระบายน้ำจากแม่น้ำยมสายเก่าและแม่น้ำยมสายหลัก เข้าไปกักเก็บไว้บ้างแล้วประมาณ 50,000 ไร่ ในอัตราสูงสุดประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที หรือวันละ 12 ล้านลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่มีอยู่ทั้งในคลองและในทุ่งบางระกำประมาณ 120 ล้านลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 280 ล้าน ลบ.ม.

ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน กล่าวต่อว่า การดำเนินโครงการบางระกำโมเดลทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ เนื่องจากได้มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินในการทำนาปีของเกษตรกรในพื้นที่ของโครงการใหม่ ซึ่งมีจำนวน 265,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.บางระกำ อ.โพธาราม อ.เมือง จ.พิษณุโลก และอ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย อยู่ในเขตรับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่าน จำนวน 205,000 ไร่ โครงการ ส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล จำนวน 20,000 ไร่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร จำนวน 40,000 ไร่ ให้เริ่มทำนาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เพื่อที่จะให้เก็บเกี่ยวได้ในเดือนกรกฎาคม จนถึงช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2560

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาการเก็บเกี่ยวข้าวบางส่วนอาจจะล่าช้าไปบ้าง เนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ เพราะข้าวจะมีความชื้นสูง แต่ก็ยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ทุกแปลง โดยที่ไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำหลาก ส่วนนาข้าวที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว ก็จะไม่ได้รับความเสียหายจากการปล่อยน้ำเข้านาในช่วงนี้เช่นกัน เนื่องจากจะอยู่บนที่ดอน ซึ่งจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนน้ำท่วมทุกแปลง

“การปรับเปลี่ยนปฏิทินในการทำนาปีของเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากลดความเสี่ยงที่ผลผลิตข้าวจะความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ในส่วนของภาครัฐก็สามารถประหยัดงบประมาณที่จะจ่ายค่าชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วม และที่สำคัญหลังจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิต ยังสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในเขตชุมชนและสถานที่ราชการของจังหวัดสุโขทัย ตลอดจนเป็นการหน่วงน้ำ รอการระบายไม่ให้เกิดผลกระทบกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างอีกด้วย โดยจะควบคุมระดับน้ำท่วมไม่ให้กระทบต่อที่อยู่อาศัยและการสัญจรของราษฎร ซึ่งจะสามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุดประมาณ 400 ล้านลบ.ม. ในระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน" นายชำนาญกล่าว

นอกจากนี้ยังจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการทำอาชีพประมง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำ ปัจจุบันเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวเสร็จแล้วก็ได้เริ่มเปิดท่อนำน้ำเข้าสู่แปลงนาของตน เพราะเมล็ดข้าวที่ร่วงอยู่ในนา หรือ เกิดขึ้นมาใหม่ จะเป็นอาหารอย่างดีของปลา ปลาจะชุกชุมมากเป็นพิเศษ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี และน้ำที่เก็บกักไว้ยังสามารถนำมาบริหารจัดการใช้เป็นน้ำต้นทุนในการทำนาปรัง และการอุปโภคบริโภคเป็นการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ