(เพิ่มเติม) กรมบัญชีกลาง นำร่อง 5 โครงการก่อสร้างภาครัฐ มูลค่ากว่า 5 หมื่นลบ.เข้าร่วมโครงการ CoST

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 7, 2017 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยภายหลังงานสัมมนาโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐของประเทศไทย (Construction Sector Transparency Initiative: CoST) ที่มีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานว่า ปัจจุบันมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมเป็นโครงการนำร่องของ CoST และได้รับการตรวจสอบข้อมูลโดยคณะทำงานตรวจสอบข้อมูล จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2560) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่า 16,655 ล้านบาท 2. โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มูลค่า 31,244 ล้านบาท 3. โครงการบรรเทาอุทกภัย อ.หาดใหญ่ (ระยะที่ 2) ของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 3,712.19 ล้านบาท 4. โครงการก่อสร้างทางวิ่งทางขับท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ของกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม วงเงินสัญญา 1,316.73 ล้านบาท และ 5. โครงการก่อสร้างอาคารสถาบันโรคผิวหนังพร้อมรื้อถอน ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข วงเงินสัญญา 947 ล้านบาท

ทั้งนี้ คณะทำงานตรวจสอบข้อมูล (Assurance Team) ได้ดำเนินการตรวจสอบความครบถ้วนและถูกต้องของข้อมูลที่เปิดเผยตามแนวทาง CoST และจะมีการรายงานผลการตรวจสอบข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะบนเว็บไซต์ CoST ของกรมบัญชีกลางประมาณเดือนตุลาคม 2560

น.ส.สุทธิรัตน์ กล่าวว่า กรมบัญชีกลาง พร้อมที่จะพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความโปร่งใส ทันสมัย เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพเทียบเท่าสากล โดยหวังว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป กรมบัญชีกลางจึงได้จัดสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอความเป็นมาของ CoST ในประเทศไทย หลักการและแนวทางการดำเนินงานโครงการ CoST การรายงานผลการตรวจสอบข้อมูล รวมถึงอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานนำร่องโครงการ CoST อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาโครงการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อส่งเข้ารับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ CoST ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561

ทั้งนี้ การนำระบบ CoST มาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้น นับว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะสร้างกลไกและมาตรฐานของการเปิดเผยข้อมูล เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในทุกๆ ขั้นตอนที่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างภาครัฐ และเป็นการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างครั้งสำคัญของประเทศ

"การนำโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) มาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐนั้น เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีการดำเนินการในประเทศไทยมาก่อน ทั้งการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างของหน่วยงานของรัฐ การกำหนดให้มีคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลเพื่อตรวจสอบและแปลข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าใจของประชาชนทั่วไป" น.ส.สุทธิรัตน์ กล่าว

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้นำร่อง 5 โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ภาครัฐที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท เข้าโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐของประเทศไทย (CoST) โดยสร้างกลไกและมาตรฐานของการเปิดเผยข้อมูล เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในทุกๆ ขั้นตอนที่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างภาครัฐ โดยการนำร่อง 5 โครงการดังกล่าว คิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ในส่วนของ CoST ที่จะใช้กับโครงการก่อสร้างภาครัฐนั้น ในอนาคตอันใกล้จะมีการขยายไปยังโครงการก่อสร้างที่มีมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาท เพื่อลดปัญหาการทุจริตและให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้

"CoST เป็นการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างครั้งสำคัญของประเทศ กรมบัญชีกลางจึงพร้อมที่จะพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความโปร่งใส ทันสมัย เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพเทียบเท่าสากล โดยหวังว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป" ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว

สำหรับการดำเนินการ CoST เป็นมาตรฐานของประเทศอังกฤษที่ธนาคารโลก (World Bank) แนะนำให้ประเทศไทยดำเนินการ โดยขณะนี้มีเพียง 17 ประเทศในโลกที่นำร่องใช้โครงการนี้ ซึ่งถือว่าประเทศไทยมีความตื่นตัวเรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างมาก อีกทั้งเป็นการสนับสนุนเรื่องการทำสัญญาคุณธรรมที่ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.60 โดยบังคับให้การจัดซื้อจัดจ้างจะต้องทำสัญญาคุณธรรมทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ