กยท. แจงราคาในปท.ช่วงก.ย.-ต.ค.ปรับลงตามตลาดตปท. ย้ำเดินหน้ามาตรการสร้างเสถียรภาพ ติดตามแก้ปัญหาใกล้ชิด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 30, 2017 10:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ระดับราคายางในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ที่ผ่านมา ราคายางในประเทศมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับราคายางในตลาดล่วงหน้าทั้ง 3 ตลาดของต่างประเทศ (โตเกียว เซี่ยงไฮ้ ไซคอม) ที่มีการปรับตัวลดลงทุกตลาด

โดยราคายางแผ่นรมควันในตลาดกลาง 3 ตลาดหลัก ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 52.07 บาท/กิโลกรัม ปรับตัวลดลง 5.55% ขณะที่ราคาเฉลี่ยตลาดโตเกียว อยู่ที่ 58.94 บาท/กิโลกรัม ปรับตัวลดลง 8.69% ตลาดเซี่ยงไฮ้ อยู่ที่ 66.63 บาท/กิโลกรัม ปรับตัวลดลง 13.17% และตลาดไซคอม อยู่ที่ 58.12 บาท/กิโลกรัม ปรับตัวลดลง 7.61%

"นั่นหมายถึงไม่เพียงแค่ราคายางในประเทศเท่านั้นที่ปรับตัวลดลง แต่ราคาของตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าในต่างประเทศก็ปรับลดลงเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานโดยรวมของโลก และการซื้อขายทำกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าทั่วโลก"นายธีธัช กล่าว

นายธีธัช กล่าวต่อว่า สถานการณ์ยางพาราในประเทศที่มีปริมาณยางมากขึ้นในช่วงเดือนนี้ เพราะในหลายพื้นที่ปลูกยางมีฝนทิ้งช่วง ซึ่งมีส่วนกดดันราคา พบว่า ราคารับซื้อยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ หน้าโรงงานของผู้ประกอบการ เฉลี่ยอยู่ที่ 48.00 – 48.50 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ กยท. และ บ.ร่วมทุนฯ ได้พยายามเข้าไปซื้อในราคาสูงขึ้น เพื่อสร้างราคาอ้างอิงสำหรับการซื้อขายนอกตลาด

แต่ขณะเดียวกัน กยท. ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจในทุกพื้นที่เพื่อเป็นสายตรวจยางพารา ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยได้มีการเจรจาหารือกับผู้ประกอบการมาโดยตลอด และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมทั้ง กยท. ได้เร่งผลักดันให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเข้ามาเป็นเครือข่ายตลาดกลางยางพารา เพื่อจะได้ซื้อขายผลผลิตในราคาเดียวกันกับราคาตลาดกลาง กยท. ที่ประกาศ แนวทางต่างๆ นี้ จะช่วยสร้างเสถียรภาพราคายางให้คงที่และไม่ตกต่ำตามสภาวะตลาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

“การจัดตั้งบริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย ซึ่งมีองค์ประกอบของผู้ถือหุ้น คือ 5 บริษัทผู้ส่งออกยางรายใหญ่ และ กยท. ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ในการแก้ไขเสถียรภาพราคาซึ่งนำมาใช้ครั้งแรกในยุคนี้ ได้มีการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป้าหมายในเรื่องการรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยวิธีการเข้าซื้อยางในราคาชี้นำ ณ ตลาดกลางยางพาราการยางแห่งประเทศทั้ง 6 ตลาดหมุนเวียนสับเปลี่ยนกัน เพื่อให้เกิดราคาอ้างอิงที่ดีขึ้น อย่างเป็นธรรมสำหรับการซื้อขายในตลาดภาคเอกชนทั่วทุกพื้นที่ โดยที่ประชุมของบริษัทร่วมทุนฯ ครั้งล่าสุดได้มีมติให้บริษัทผู้ถือหุ้น ดำเนินการขนย้ายยางออกจากตลาดโดยเร็วที่สุด ซึ่งมีบริษัทผู้ถือหุ้นรับซื้อไปแล้วบางส่วน และบางส่วนได้ดำเนินการอัดก้อนเก็บไว้ ณ โกดังของบริษัทผู้ถือหุ้น โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เร่งดำเนินการบริหารจัดการยางในตลาดที่เหลืออยู่ไม่มากนัก ควบคู่กับการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และการให้บริการทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งปัจจุบันตลาดกลางยางพาราทุกแห่งเปิดดำเนินการตามปกติ ทั้งนี้ มาตรการที่ได้ดำเนินการ ถือว่าเป็นแนวทางใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในวงการยางพารา ซึ่งได้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เน้นการบูรณาการจากทุกภาคส่วน หวังมุ่งให้เกิดเสถียรภาพราคายาง และเร่งดำเนินการเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ทุกภาคส่วนในวงการยางพารา" ผู้ว่าการ กยท. กล่าว

สำหรับการดำเนินการตามมาตรการ AETS (การกำหนดโควตาส่งออก) โดยที่ประชุมรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก ITRC ครั้งที่ผ่านมา มีความเห็นร่วมกันว่า มาตรการนี้ จะนำมาใช้ก็ต่อเมื่อสภาวะราคาปรับลดลงในระดับหนึ่ง โดยมีบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCo) ที่มีประเทศสมาชิกผู้ผลิตยางทั้งสามประเทศเป็นหุ้นส่วน คอยติดตามและประเมินสถานการณ์ราคายางอย่างใกล้ชิด หากมีความผันผวน ผิดปกติ จะดำเนินการเชิญประเทศสมาชิกประชุมเร่งด่วนร่วมกันเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

ส่วนความคืบหน้าของโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถดูดซับปริมาณยางแผ่นในประเทศ ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย

พร้อมกันนี้ กยท.ได้เสนอขอขยายเวลา การรับสมัครผู้เข้าร่วม “โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยางผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท” อีกโครงการหนึ่งไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2560 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ต่อไป สำหรับโครงการส่งเสริมใช้ยางพาราในประเทศ กยท. ได้ประสานกับทุกหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละหน่วยงานอยู่ระหว่างดำเนินการตามระเบียบการจัดหาของตนเอง ส่วนการตั้งคณะทำงานติดตามนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างการพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานฯ ซึ่งต้องประสานงานร่วมทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จึงยังไม่ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้ กยท. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักคอยประสานงานกับทุกกระทรวงในเบื้องต้น และรายงานให้กระทรวงเกษตรฯ รับทราบทุกสัปดาห์ เบื้องต้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานได้นำร่องในการใช้ยางดังกล่าวแล้ว ขณะเดียวกัน กยท. ได้ผลักดันพร้อมส่งเสริมให้สถาบันเกษตรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการด้านผลิตภัณฑ์ยาง เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน มอก. และมาฐานอื่นๆ พร้อมทั้งหาตลาดใหม่ในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางประเภทต่างๆ สู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางพาราควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่าเพิ่ม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ