กสิกรฯ คาด กนง.รอบ 8 พ.ย.คงดอกเบี้ยหลังศก.ไทยฟื้นดี-สภาพคล่องสูง-รองรับความเสี่ยงได้ดี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 3, 2017 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่องในการประชุมรอบรองสุดท้ายของปีนี้ในวันที่ 8 พ.ย.60 และน่าจะส่งสัญญาณยืนดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไป ทั้งนี้ ด้วยภาพของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ปรับดีขึ้น คงสนับสนุนให้ กนง. สามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อเนื่อง

ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศที่แข็งแกร่งของไทย ยังรองรับความผันผวนและความเสี่ยงภายนอกประเทศได้ รวมทั้งระดับสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยที่อยู่ในระดับสูง คงเป็นประเด็นสนับสนุนให้ทางการไทยสามารถดำเนินนโยบายการเงินที่เป็นอิสระ จากแรงกดดันของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลักของโลกได้ในระดับหนึ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่เชื่อว่าจะทำให้ กนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ คือ 1.พัฒนาการเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อคงทยอยขยับเข้าใกล้เป้าหมายนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลให้ความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมมีน้อยลง ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่เต็มที่ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ยังไม่ทั่วถึงมากนัก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับแรงหนุนจากภาคต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ภาคการเกษตรที่ยังหดตัวในไตรมาส 3/60 นอกจากนี้ การว่างงานที่ขยับเพิ่มขึ้นอันบ่งชี้ถึงการกระจายตัวของการฟื้นตัวที่ยังไม่ทั่วถึง

อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าคงทนกลับมาขยายตัวเร่งขึ้นอีกครั้ง การลงทุนที่สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวติดต่อกันกว่า 4 เดือน และเครื่องชี้การลงทุนหมวดก่อสร้างปรับดีขึ้น อาจเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าที่คงมีความสมดุลมากขึ้น โดยการลงทุนมีโอกาสที่จะฟื้นตัวต่อเนื่องจากแรงกระตุ้นของภาครัฐผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่คงมีความชัดเจนมากขึ้นในปี 2561

"ด้วยภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่รักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวต่อเนื่อง อีกทั้งการฟื้นตัวก็เริ่มมีสัญญาณที่กระจายตัวไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงมากขึ้น สัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ดีคงส่งผลให้โอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงไปมาก ขณะที่ภาพการฟื้นตัวที่ยังไม่แข็งแรงเต็มที่ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง. น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป" เอกสารเผยแพร่ระบุ

นอกจากนี้ แม้ว่าระดับเงินเฟ้อในปัจจุบันจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่มองไปข้างหน้ายังมีปัจจัยหนุนที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อทยอยขยับตัวขึ้น ทั้งการปรับขึ้นของราคาสินค้าพลังงาน การปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงาน และผลจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ยังคงสนับสนุนทิศทางการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้ออยู่ ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่มีโอกาสที่จะเคลื่อนไหวเริ่มเข้าสู่กรอบล่างของเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ 1.0-4.0%

2. เสถียรภาพต่างประเทศที่แข็งแกร่งของไทย ยังรองรับความผันผวนและความเสี่ยงภายนอกประเทศได้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าธนาคารกลางหลัก อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมทั้งธนาคารกลางยุโรป ได้มีการส่งสัญญาณที่จะทยอยปรับการดำเนินนโยบายให้เป็นปกติมากขึ้น โดยในส่วนของเฟดได้มีการส่งสัญญาณที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในเดือนธันวาคม และอีก 3 ครั้งในปีหน้า ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปได้ส่งสัญญาณที่จะปรับลดขนาดมาตรการ QE ลงสู่ระดับ 30 พันล้านยูโรต่อเดือน

อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายดังกล่าวยังไม่น่าจะส่งผลต่อตลาดการเงินไทยอย่างมีนัยสำคัญในระยะอันใกล้ เนื่องจากสภาพคล่องในระบบการเงินไทยยังคงทรงตัวในระดับสูง ขณะที่ทางการไทยมีระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ อีกทั้งเศรษฐกิจไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงต่อเนื่อง

"ทั้งนี้ ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจภายนอกประเทศของไทยที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง ทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับภาวะการไหลออกของเงินทุนอย่างฉับพลันมีจำกัด คงเปิดโอกาสให้ กนง. มีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อสนับสนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นเต็มที่ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับตลาดโลกในระยะต่อไป" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะทรงตัวในระดับปัจจุบันอีกระยะ โดย กนง.คงจะรอประเมินถึงพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเข้ามากระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักของโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้ปรับตัวขึ้นตาม รวมทั้งอาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ คงทยอยกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมากนัก

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาคงได้แก่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง อาจเป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีโอกาสที่จะไหลกลับสู่ตลาดสหรัฐฯ อันอาจจะส่งผลให้ประเทศที่มีพื้นฐานเสถียรภาพต่างประเทศเปราะบางมีโอกาสประสบภาวะการไหลออกของเงินทุน อันอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดการเงินโลกมีโอกาสกลับมาผันผวนอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ